วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความทุกข์ของเทวดาและมนุษย์ตามธรรมชาติ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูป
เป็นที่มายินดี
ยินดีแล้วในรูป บันเทิงแล้วในรูป ย่อม
อยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวนจางคลายดับไปแห่งรูป.
(ในกรณีแห่ง เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ ก็ตรัส
อย่างเดียวกัน).

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ส่วนตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
รู้แจ้งความเกิด ความตั้งอยู่ไม่ได้ รสอร่อย โทษ และอุบาย
เครื่องสลัดออกแห่งรูป ตามเป็นจริง ไม่มีรูปเป็นที่มายินดี
ไม่ยินดีในรูป ไม่บันเทิงในรูป ยังคงอยู่เป็นสุขแม้เพราะ
ความแปรปรวนจางคลายดับไปแห่งรูป.
(ในกรณีแห่ง เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและ
ธรรมารมณ์ ก็ตรัสอย่างเดียวกัน).

สฬา. สํ. ๑๘/๑๕๙/๒๑๖.

ทิ้งเสียนั่นแหละ กลับจะเป็นประโยชน์

ภิกษุ ทั้งหลาย. !
สิ่งใด ไม่ใช่ของเธอ, สิ่งนั้น จงละมันเสีย;
สิ่งนั้น อันเธอละเสียแล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เธอ
.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อะไรเล่า ที่ไม่ใช่ของเธอ ?
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! จักษุ ไม่ใช่ของเธอ เธอจงละมันเสีย;
จักษุนั้น อันเธอละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และ
ความสุขแก่เธอ
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และ มโน ก็ได้
ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน).

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือน อะไร ๆ ในแคว้นนี้
ที่เป็นหญ้า เป็นไม้ เป็นกิ่งไม้ เป็นใบไม้ ที่คนเขา
ขนไปทิ้ง หรือ เผาเสีย หรือทำตามปัจจัย; พวกเธอรู้สึก
อย่างนี้บ้างหรือไม่ว่า คนเขาขนเราไป หรือเผาเรา หรือ
ทำแก่เราตามปัจจัยของเขา ?
“ไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่า ความรู้สึกว่า
ตัวตน (อตฺตา) ของตน (อตฺตนิยา) ของข้าพระองค์ไม่มีในสิ่งเหล่านั้น
พระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ฉันใดก็ฉันนั้น :
จักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กายะ...มโน ไม่ใช่ของเธอ
เธอจงละมันเสีย
สิ่งเหล่านั้น อันเธอละเสียแล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เธอ แล
.
สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๑/๒๑๙.

ทิ้งเสียนั่นแหละ กลับจะเป็นประโยชน์

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
.
ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจง
เฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย
นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
หาได้ยากในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน
จงรักษาอายุให้ยั่งยืน
นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นานรักษา อายุ
ให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นี้เป็นธรรม ประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้
ธรรม ๔ ประการนี้
อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) ๑
สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ๑
จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค ) ๑
ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) ๑ .
คหบดี ! ก็ สัทธาสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อ
พระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้
ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ
จรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็น
ผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรม
สั่งสอนสัตว์”. คหบดี ! นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา.
ก็สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
ปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาด
จากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา.
ก็จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน
คือ ความตระหนี่ มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือ
อันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้
และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.
ก็ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คือ อภิชฌา
ครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ
เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อม
จากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาท ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่
ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและ
ละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข.
คหบดี ! อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ
(ความโลภอย่างแรงกล้า) เป็นอุปกิเลส (โทษเครื่องเศร้าหมอง)
แห่งจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
เสียได้ รู้ว่า พยาบาท (คิดร้าย) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา)
อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ย่อมละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นอุปกิเลส
แห่งจิตเหล่านั้น .
คหบดี ! เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าอภิชฌาวิสมโลภะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ย่อมละ
สิ่งเหล่านั้นเสียได้ อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก
มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
ปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้
ได้ธรรม ๔ ประการนี้แล อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

สัทธาสัมปทา

สีลสัมปทา

จาคสัมปทา

ปัญญาสัมปทา

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แบบปฏิบัติสบาย ประสพผลเร็ว

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน
ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน
... แล้วแลอยู่.
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระ
เสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ
โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ
;
แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น
ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง
คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์
สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่
อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึง บรรลุ
อนันตริยกิจ
เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว :
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เหล่านี้แล ปฏิปทา ๔ ประการ.
จตุกฺก. อํ. ๒๑ / ๒๐๒ / ๑๖๓.

แบบปฏิบัติสบาย ประสพผลช้า

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน
ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน
(มีรายละเอียด
ดังที่แสดงแล้วในที่ทั่วไป) แล้วแลอยู่.
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระ
เสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ
โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ
;
แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น
ปรากฏว่าอ่อน
คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์
สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้า
เหล่านี้ ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อ
ความสิ้นอาสวะได้ช้า :
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า.

แบบปฏิบัติลำบาก ประสพผลเร็ว

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็น
ความไม่งามในกาย มีสัญญาว่า ปฏิกูลในอาหาร มี
สัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดี
เป็นผู้มีปกติ ตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน.
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระ
เสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ
โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ ;
แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น
ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง (แก่กล้า)
คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์.
เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุ
นั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว :
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว.

แบบปฏิบัติลำบาก ประสพผลช้า

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็น
ความไม่งามในกาย มีสัญญาว่า ปฏิกูลในอาหาร มี
สัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดี
เป็นผู้มีปกติ ตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
.
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระ
เสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ
โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ ; แต่ อินทรีย์ ๕
ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ
สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้ยังอ่อน
ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะ
ได้ช้า :
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า.

ปฏิปทาของการสิ้นอาสวะ ๔ แบบ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ปฏิปทา ๔ ประการ
เหล่านี้ มีอยู่ ; คือ :-
ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า ๑,
ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว ๑,
ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า ๑,
ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว ๑.

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของผู้มีสติและสัมปชัญญะ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุเป็นผู้มีสติเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ตามเห็นกาย
ในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้;
เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็น
ประจำ....;
เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ....;
เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็น
อย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบ
ในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู
การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร,
การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ,
การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด
การนิ่ง,
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มี
สัมปชัญญะ.
สฬา. สํ. ๑๘/๒๖๐/๓๗๔-๓๘๑.

ให้เป็นผู้หนักแน่น

ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน (ปฐวี)
เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่, ผัสสะทั้งหลาย
ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิต
ตั้งอยู่. ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาทิ้งของสะอาดบ้าง
ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง ทิ้งน้ำลายบ้าง หนองบ้าง
โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอา
รังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น, นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิต
ให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน
อยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว
จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำ (อาโป) เถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ
และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล !
เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
ล้างคูถบ้าง ล้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง
ลงในน้ำ น้ำก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น,
นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำเถิด เมื่อเธอ
อบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและ
ไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้น
เหมือนกัน.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยไฟ (เตโช) เถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยไฟอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ
และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่.
ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง
ลงไปให้มันไหม้ ไฟก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่ง
เหล่านั้น, นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยไฟเถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยไฟอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่า
พอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่
ฉันนั้นเหมือนกัน.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยลม (วาโย) เถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอดว้ ยลมอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ
และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล !
เปรียบเหมือนลมพัดผ่านไปในของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมก็
ไม่รู้สึกอึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น, นี้ฉันใด; ราหุล !
เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยลมเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอ
ด้วยลมอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ
อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศ เถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่า
พอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่.
ราหุล ! เปรียบเหมือนอากาศ เป็นสิ่งมิได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไร ๆ
นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศเถิด
เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่
น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิต
ตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ม. ม. ๑๓/๑๓๘-๑๔๐/๑๔๐-๑๔๔.

เข้าใจธรรมเพียงบทเดียว ก็เพียงพอ

คามณิ !
... เพราะเหตุว่า
ถึงแม้เขาจะเข้าใจธรรม
ที่เราแสดงสักบทเดียว
นั่นก็ยังจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
และความสุขแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น
ตลอดกาลนาน

สฬา. สํ. ๑๘/๓๘๗/๖๐๓.

คามณิ เข้าใจธรรมเพียงบทเดียวก็เพียงพอ
เพิ่มคำอธิบายภาพ
เข้าใจธรรมเพียงบทเดียว ก็เพียงพอ

พุทธวจน ปฐมธรรม

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไม่อาจถึงซึ่ง ความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย

ภิกษุทั้งหลาย ! คนเลี้ยงโคที่ประกอบด้วยความบกพร่อง ๑๑ อย่างเหล่านี้แล้ว
ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงโคและทำฝูงโคให้เจริญได้. ความบกพร่องนั้นคืออะไรกันเล่า ?
คือ คนเลี้ยงโคในกรณีนี้ ... เป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง, เป็นผู้ไม่ปิดแผล, ...
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๑ อย่างเหล่านี้แล้ว
ไม่ควรที่จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้. องค์คุณนั้นคืออะไรกันเล่า ?
คือ ภิกษุในกรณีนี้ ... เป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง, เป็นผู้ไม่ปิดแผล ...
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างไรกันเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ไม่อดกลั้น (อธิวาเสติ)
ไม่ละ (น ปชหติ)
ไม่บรรเทา (น วิโนเทติ)
ไม่ทำให้สิ้นสุด (น พฺยนฺตีกโรติ)
ไม่ทำให้หมดสิ้น (น อนภาวงฺคเมติ)
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยกาม (กามวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยความมุ่งร้าย (พยาบาทวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยการเบียดเบียน (วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่ปิดแผล เป็นอย่างไรกันเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
เห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก,
ลิ้มรสด้วยลิ้น, ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ,
แล้วก็มีจิตยึดถือเอา ทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด (โดยนิมิต)
และ การถือเอาโดยการแยกเป็นส่วน ๆ (โดยอนุพยัญชนะ)
สิ่งอันเป็นอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามผู้ที่
ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใด เป็นเหตุ
เธอไม่ปฏิบัติเพื่อปิดกั้น อินทรีย์เหล่านั้นไว้
เธอไม่รักษา และไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่ปิดแผล เป็นอย่างนี้แล.
(ในที่นี้ ยกมาให้เห็นเพียง ๒ จากทั้งหมด ๑๑ คุณสมบัติ)
มู. ม. ๑๒/๔๑๐/๓๘๔-๕.

ลักษณะของการอยู่อย่างมีตัณหาเป็นเพื่อน

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”
มิคชาละ !
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ
อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก
เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่.
ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้;
แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ,
นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี;
เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :
มิคชาละ !
ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินดีด้วยหู,
กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก,
รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น,
โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย,
และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ, ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).
มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย
มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์
เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม
ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า
ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น.
ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า !”
มิคชาละ !
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ
อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก
เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่.
ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้
แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้น นั่นแหละ
นันทิ ย่อมดับ
เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่, สาราคะ ย่อมไม่มี
เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่, สัญโญคะ ย่อมไม่มี
ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินดีด้วยหู,
กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก,
รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น,
โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย,
และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ, ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน)
มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้
แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย
ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม
ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า
ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น;
ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ละเสียได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว” ดังนี้ แล.
สฬา. สํ. ๑๘/๔๓–๔๔/๖๖-๖๗.


วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อัสสุตวตาสูตร

[๒๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ... ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้างคลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ใน
ร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ความเจริญ
ก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
ย่อมปรากฏ ปุถุชนผู้มิได้สดับจึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกาย
นั้น แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง
วิญญาณบ้างปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต เป็น
ต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้
ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้
ตลอดกาลช้านานฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น
ในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ฯ
[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอัน
เป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดย
ความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง
ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง
ย่อมปรากฏ แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง
วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน
[๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น
ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด ร่างกายอันเป็นที่ประชุม
แห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น
ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ก็ฉันนั้นแล ฯ
[๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคายด้วยดีถึงปฏิจจสมุป
บาทธรรม ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะ
สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะ
อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
จึงมีนามรูปเพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็น
ปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้อนึ่ง เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย
แม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย
ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดเพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้วย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล ฯ
สัง. นิ. 16/232/93

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปาฏิหาริย์ สาม

เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้.
๓ อย่างอะไรเล่า ? ๓ อย่าง คือ :-
๑. อิทธิปาฏิหาริย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์
๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์
(๑) เกวัฏฏะ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีประการต่าง ๆ :
ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน, หลายคนเป็นคนเดียว, ทำที่
กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง, ไปได้ไม่
ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปใน
อากาศว่าง ๆ, ผุดขึ้นและดำรงอยู่ในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ,
เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน, ไปได้ใน
อากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์. ลูบคลำ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วย
ฝ่ามือ. และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหม
โลกได้. เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการ
แสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่
ศรัทธาเลื่อมใสว่าน่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธา
เลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชา ชื่อ คันธารี มีอยู่ ภิกษุ
นั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น. เกวัฏฏะ ! ท่านจะ
เข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าว
ตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?
“พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”
เกวัฏฏะ!
เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่อ
อิทธิปาฏิหาริย์
.
(๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็น
อย่างไรเล่า?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึก
ของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น
ของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่าน
มีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ฯลฯ ...
กุลบุตรผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใส
ว่า วิชา ชื่อ มณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้น กล่าวทายใจได้เช่นนั้น ๆ
ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่), เกวัฎฎะ ! ท่านจะ
เข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบ
ผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ?
“พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”
เกวัฏฏะ !
เราเห็นโทษในการแสดง อาเทสนาปาฏิหาริย์
ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่อ
อาเทสนาปาฏิหาริย์
.
(๓) เกวัฏฏะ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์ นั้นเป็น
อย่างไรเล่า?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า “ท่านจงตรึก
อย่างนี้ ๆ อย่าตรึกอย่างนั้น ๆ, จงทำไว้ในใจอย่างนี้ ๆ
อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้น ๆ, จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้ ๆ แล้ว
แลอยู่” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.
เกวัฏฏะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ
ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกได้อย่างไม่มี
ใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์. ตถาคตนั้น ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้
กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่น
ให้รู้แจ้งตาม. ตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น –
ท่ามกลาง – ที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ
และพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. คหบดีหรือบุตร
คหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่งในภายหลังก็ดี
ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต. เขาผู้ประกอบ
ด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทาง
มาแห่งธุลี, บรรพชาเป็นโอกาสว่าง; การที่คนอยู่ครองเรือน
จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว
หมือนสังข์ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย. ถ้ากระไร
เราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือน
บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”, ดังนี้. โดยสมัยอื่น
ต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่และวงศ์ญาติน้อยใหญ่
ปลงผมและหนวด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง
ด้วยเรือนแล้ว. ภิกษุนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนี้ สำรวมแล้วด้วย
ความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและ
โคจร, มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ว่าเป็นโทษ
เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย, ประกอบ
แล้วด้วยกายกรรม วจีกรรมอันเป็นกุศล, มีอาชีวะบริสุทธิ์,
ถึงพร้อมด้วยศีล, มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย,
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ.
เกวัฏฏะ ! ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการทำสัตว์
มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วาง
ท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู
กรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่.
เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.
เกวัฏฏะ ! ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส
ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน
ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว,
เธอก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ. เธอย่อมรู้ชัด
ตามที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์,
นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์”; และรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “เหล่านี้
อาสวะ, นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งอาสวะ, นี้ความดับไม่เหลือแห่ง
อาสวะ, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ”.
เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ อวิชชาสวะ. ครั้นจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิด ญาณหยั่งรู้
ว่า “จิตพ้นแล้ว”. เธอรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่
จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! เปรียบเหมือน
ห้วงน้ำใสที่ไหล่เขาไม่ขุ่นมัว, คนมีจักษุดียืนอยู่บนฝั่งใน
ที่นั้น, เขาเห็นหอยต่าง ๆ บ้าง กรวดและหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง
อันหยุดอยู่และว่ายไปในห้วงน้ำนั้น, เขาจะสำเหนียกใจ
อย่างนี้ว่า “ห้วงน้ำนี้ใส ไม่ขุ่นเลย หอย ก้อนกรวด ปลา
ทั้งหลายเหล่านี้หยุดอยู่บ้าง ว่ายไปบ้าง ในห้วงน้ำนั้น” ดังนี้;
ฉันใดก็ฉันนั้น. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.
เกวัฏฏะ ! เหล่านี้แล ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง ที่เรา
ได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้
ตามด้วย.
สี. ที. ๙/๒๗๓ – ๒๗๖/ ๓๓๙ – ๒๔๒.
_____________________________
๑. คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีมีนามคันธาระ, อีกความหมายหนึ่ง
หมายถึงคำแปลว่าในแคว้นคันธาระ.


ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก จะถึงที่หมายต้องเดินเอาเอง

“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมกล่าวสอน
พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุก ๆ รูปได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุด
อย่างยิ่งหรือ ? หรือว่าไม่ได้บรรลุ ?” พราหมณ์ผู้หนึ่งทูลถาม
พระผู้มีพระภาค.
พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน
พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็น
ผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
“พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็น
ปัจจัย, ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่, หนทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ก็ยัง
ตั้งอยู่. พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อยพวก
ที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?”
พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้,
ท่านจงตอบตามควร. ท่านเป็นผู้ช่ำชองในหนทางไปสู่เมือง
ราชคฤห์มิใช่หรือ ? มีบุรษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหา
และกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไป
เมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้บอกทางไปเมืองราชคฤห์
แก่ข้าพเจ้าเถิด” ดังนี้; ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษผู้นั้นว่า
“มาซิท่าน ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้าน
ชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าอัน
น่ารื่นรมย์ จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอัน
น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้. บุรุษนั้นอันท่าน
พร่ำบอก พร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลัง
ตรงกันข้ามไป, ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง ไปถึงเมืองราชคฤห์
ได้โดยสวัสดี. พราหมณ์เอย ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไร
เล่าเป็นปัจจัย ที่เมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่ ท่านผู้ชี้บอก
ก็ยังตั้งอยู่ แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลงผิดทาง ส่วนบุรุษ
อีกผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี ?
“พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า,
เพราะข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น”
พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้นแล, ที่พระนิพพาน
ก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่ เรา
ผู้ชักชวนก็ยังตั้งอยู่;
แต่สาวกแม้เรากล่าวสอนพร่ำสอน
อยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จ
ถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้ เราจักทำอย่างไรได้เล่า,
เพราะเราเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น.
อุปริ. ม. ๑๔/๘๕-๘๗/๑๐๑-๑๐๓.

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การสาธยายธรรม

วิธีการสาธยายธรรมให้แจ่มแจ้งได้นาน และข้อควรระวัง

ประโยชน์ของการสาธยายธรรม

บทสวด ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
บทสวด ระลึกถึงพระธรรม
บทสวด ระลึกถึงพระสงฆ์
บทสวด แก้ความหวาดกลัว
บทสวด ปฏิจจสมุปบาท
บทสวด อริยมรรคมีองค์แปด
บทสวด ความสิ้นสุดแห่งโลก
บทสวด อธิษฐานความเพียร
บทสวด ละนันทิ
บทสวด ข้อปฏิบัติอันไม่เสื่อมเสีย
บทสวด อานาปานสติ
บทสวด เพื่อผู้เจ็บไข้
บทสวด ที่สุดแห่งทุกข์
บทสวด อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
บทสวด ก่อนนอน
บทสวด ธรรมวินัยคือศาสดา
บทสวด พึ่งตนพึ่งธรรม
บทสวด ปัจฉิมวาจา
การเจริญเมตตา

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของผู้ตั้งจิตในกายคตาสติ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หก
ชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน
มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูก
ด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัข
บ้าน, จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียว
เส้นหนึ่ง ๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือ
เสาหลักอีกต่อหนึ่ง.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่าง ๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน
เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอม
ปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะ ไป
ป่า.ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกาลใดแล ความเป็นไป
ภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้า
แล้ว ; ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่ง
เจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้
ฉันใด ;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากใน
กายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,
รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ,
รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก”
นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอ
ทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“กายคตาสติของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เรา
อบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ
เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอ
ด้วยดี”
ดังนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ
ไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
สฬา.สํ.๑๘ / ๒๔๖,๒๔๘ / ๓๔๘,๓๕๐.

พุทธวจน มรรควิธีที่ง่าย

ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตในกายคตาสติ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หก
ชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มา
ผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง ; คือเขาจับงูมาผูกด้วย
เชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน,
จับสุนัขจิ้งจอก, จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง
ๆ แล้วผูกรวมเข้าด้วยกันเป็นปมเดียวในท่ามกลาง
ปล่อยแล้ว.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิด
มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่าง ๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกันเพื่อ
จะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ :
งูจะเข้าจอมปลวก,
จระเข้จะลงน้ำ,
นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัข จะเข้าบ้าน,
สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า,
ลิงก็จะไปป่า.

ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว
สัตว์ใดมีกำลังกว่าสัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลากติดตามไปตามอำนาจของสัตว์นั้น. ข้อนี้ฉันใด ;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุใด ไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,
รูปที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,
เสียงที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ,
รสที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
และ ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้น ไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๖/๓๔๘.,
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๘/๓๕๐.

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สิ่งที่ทำให้มีภพ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสอยู่ว่า ‘เครื่อง
นำไปสู่ภพ เครื่องนำไปสู่ภพ’
ดังนี้, ก็เครื่องนำไปสู่ภพ
เป็นอย่างไร ? พระเจ้าข้า ! และความดับไม่เหลือของเครื่อง
นำไปสู่ภพนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า !”
ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ราคะ (ความ
กำหนัด) ก็ดี นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี ตัณหา (ความทะยาน
อยาก) ก็ดี และอุปายะ (กิเลสเป็นเหตุ เข้าไปสู่ภพ) และ
อุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) อันเป็นเครื่องตั้งทับ
เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใด ๆ
ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และใน
วิญญาณ ; กิเลสเหล่านี้นี่เราเรียกว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ’
ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพมีได้
เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส มีฉันทราคะเป็นต้น
เหล่านั้นเอง.

ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๓/๓๖๘.

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ

ภิกษุทั้งหลาย !  เราจักแสดงซึ่งปฏิจจสมุปบาท
(คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)
แก่พวกเธอทั้งหลาย.
พวกเธอทั้งหลาย จงฟังซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั้น,
จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์,
เราจักกล่าวบัดนี้ ...
ภิกษุทั้งหลาย !   ก็ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย
จะบังเกิดขึ้นก็ตาม,จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว; คือ ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา (ธัมมัฏฐิตตา),
คือ ความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),
คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา).
ตถาคต ย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น;
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้
ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง
ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ;
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย !  ท่านทั้งหลายจงมาดู :
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุดังนี้แล :
ธรรมธาตุใด ในกรณีนั้น อันเป็น ตถตา คือ ความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อวิตถตา คือ ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
เป็น อิทัปปัจจยตา คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมนี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
(คือธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น).

(๒) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๓) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๔) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๕) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาย่อมมี. ...ฯลฯ...
(๖) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๗) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๘) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๙) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปย่อมมี. ...ฯลฯ...
(๑๐) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๑๑) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมี.

ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย
จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว;
คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา,
คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา,
คือความที่เมื่อสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น;
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้
ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง
ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่ควํ่าและได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย !  ท่านทั้งหลายจงดู :
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุดังนี้แล :
ธรรมธาตุใดในกรณีนั้น อันเป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อวิตถตา คือ ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
เป็น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมนี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๐/๖๑.

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ลักษณะหนทางแห่งความหมดจด

ทางมีองค์แปด เป็นทางอันประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย.
บทแห่งอริยสัจสี่ ประเสริฐกว่าบททั้งหลาย.
วิราคธรรม ประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย.
ผู้มีพุทธจักษุประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้าทั้งหลาย.
นี่แหละทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ ทางอื่นมิได้มี.
เธอทั้งหลาย จงเดินตามทางนั้น อันเป็นที่หลงแห่งมาร;
เธอทั้งหลาย เดินตามทางนั้นแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ทาง เราบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย เพื่อการรู้จักการถอนซึ่งลูกศร;
ความเพียรเป็นกิจอันเธอทั้งหลายพึงกระทำ ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอก
ผู้มุ่งปฏิบัติแล้วย่อมพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง”;
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ :
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์”;
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ :
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา”;
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ :
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.
ธ. ขุ. ๒๕/๕๑/๓๐.

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ

บทอธิษฐานจิตเพื่อทำความเพียร

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรายังรู้สึกได้อยู่ซึ่งธรรม ๒ อย่าง คือ
ความไม่รู้จักอิ่มจักพอ (สันโดษ) ในกุศลธรรมทั้งหลาย และ
ความเป็นผู้ไม่ถอยกลับ (อัปปฏิวานี) ในการทำความเพียร.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอัน
ไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า
“หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่,
เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไปก็ตามที;
ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง
ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ,
ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี” ดังนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! การตรัสรู้เป็นสิ่งที่เราถึงทับแล้ว
ด้วยความไม่ประมาท อนุตตรโยคักเขมธรรม ก็เป็นสิ่งที่
เราถึงทับแล้วด้วยความไม่ประมาท.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ถ้าแม้ พวกเธอ พึงตั้งไว้ซึ่งความ
เพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า “หนัง เอ็น
กระดูก จักเหลืออยู่, เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้ง
ไปก็ตามที; ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง
ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ, ถ้ายังไม่บรรลุ
ประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี” ดังนี้
แล้วไซร้; ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกเธอ ก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่า
อันเป็นประโยชน์ที่ต้องการของกุลบุตร ผู้ออกบวชจากเรือน
เป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ, ได้ต่อกาลไม่นานในทิฏฐธรรม
เข้าถึงแล้วแลอยู่ เป็นแน่นอน.
ทุก. อํ. ๒๐/๖๔/๒๕๑.

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ

บทอธิษฐานจิตเพื่อทำความเพียร

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เมื่อไม่มีมา ไม่มีไป ย่อมไม่มีเกิด และไม่มีดับ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงชักชวนภิกษุ
ทั้งหลาย ด้วยธัมมิกถาอันเนื่องเฉพาะด้วยนิพพาน,
ได้ทรงเห็นว่าภิกษุทั้งหลายสนใจฟังอย่างยิ่ง จึงได้
ตรัสพระพุทธอุทานนี้ขึ้น ในเวลานั้น ว่า :-
ความหวั่นไหว ย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหา
และทิฏฐิอาศัยแล้ว
(นิสฺสิตสฺส จลิตํ)
ความหวั่นไหว ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อันตัณหา
และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
(อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ)
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี, ปัสสัทธิ ย่อมมี
(จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ)
เมื่อปัสสัทธิมี, นติ (ความน้อมไป) ย่อมไม่มี
(ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ)
เมื่อนติไม่มี, อาคติคติ (การมาและการไป) ย่อมไม่มี
(นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ)
เมื่ออาคติคติไม่มี,
จุตูปปาตะ (การเคลื่อนและการเกิดขึ้น) ย่อมไม่มี
(อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ)
เมื่อจุตูปปาตะไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้
ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง
(จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร)
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.
(เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส)
อุ.ขุ. ๒๕ / ๒๐๘ / ๑๖๑.

พุทธวจน คือที่สุดแห่งทุกข์

เหตุปัจจัยที่พระศาสนาจะตั้งอยู่นาน ภายหลังพุทธปรินิพพาน

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย
ที่เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ตั้งอยู่นาน ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่เมื่อ
พระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระสัทธรรมจะตั้งอยู่นาน พระเจ้าข้า !”
พราหมณ์ ! เพราะไม่มีการทำให้เจริญ เพราะไม่มี
การกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐานทั้งสี่ ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว สัทธรรมย่อมไม่ตั้งอยู่นาน.
แต่พราหมณ์เอ๋ย ! เพราะมีการกระทำให้เจริญ
มีการกระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐานทั้งสี่ ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว สัทธรรมย่อมตั้งอยู่นาน. สติปัฏฐานสี่
อย่างไรเล่า ?
พราหมณ์ ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติตามเห็น
กายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ
มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและ โทมนัสในโลก;
เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็น
ประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ
นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก;
เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความ
เพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่ง
อภิชฌาและโทมนัสในโลก;
เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็น
ประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ
นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.
พราหมณ์ ! เพราะไม่มีการทำให้เจริญ เพราะไม่
มีการกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐานทั้งสี่เหล่านี้แล ในเมื่อ
ตถาคตปรินิพพานแล้ว สัทธรรมย่อมไม่ตั้งอยู่นาน.
แต่เพราะมีการกระทำให้เจริญ มีการกระทำให้มาก ซึ่ง
สติปัฏฐานทั้งสี่เหล่านี้แล ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
สัทธรรมย่อมตั้งอยู่นาน, ดังนี้.
พราหมณสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๓๒/๗๗๘ - ๗๗๙.

อานาปานสติ : ละเสียได้ซึ่งความคับแค้น

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เธอทั้งหลาย
(๑) จงเป็นผู้พิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งาม
ในกายอยู่
(๒) จงเข้าไปตั้งอานาปานสติไว้เฉพาะหน้า
ในภายใน

(๓) จงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
อยู่เถิด
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
(๑) เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นอารมณ์ว่า
ไม่งามในกายอยู่ ย่อมละราคานุสัยในเพราะความเป็น
ธาตุงามได้

(๒) เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปตั้งอานาปานสติไว้
เฉพาะหน้าในภายใน ธรรมเป็นที่มานอนแห่งวิตก
ทั้งหลาย (มิจฉาวิตก) ในภายนอก อันเป็นไปในฝักฝ่าย
แห่งความคับแค้น ย่อมไม่มี

(๓) เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในสังขารทั้งปวงอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกาย มีสติ
เฉพาะในลมหายใจ
มีความเพียรทุกเมื่อ พิจารณาเห็นซึ่งนิพพาน
อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
ภิกษุนั้นแล ผู้เห็นโดยชอบพยายามอยู่ ย่อมน้อม
ไปในนิพพาน
อันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ภิกษุนั้นแล
ผู้อยู่จบอภิญญา สงบระงับล่วงโยคะเสียได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นมุนี.

อสุภสูตร อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๙๒–๒๙๓/๒๖๔.

อานาปานสติ : ละได้เสียซึ่งความฟุ้งซ่าน

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ธรรม ๓ ประการนี้ ๓ ประการ
อย่างไรเล่า คือ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑. ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้แลธรรม ๓ ประการ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ธรรม ๓ ประการ อันภิกษุพึงทำให้
เจริญเพื่อละธรรม ๓ ประการเหล่านี้ ๓ ประการ
อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) ความเป็นผู้ว่าง่าย อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
ละความเป็นผู้ว่ายาก
(๒) ความเป็นผู้มีมิตรดี อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
ละความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
(๓) อานาปานสติ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อ
ละความฟุ้งซ่านแห่งจิต
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้แลธรรม ๓ ประการ อันภิกษุพึงทำ
ให้เจริญ เพื่อละธรรม ๓ ประการเหล่านั้น.
อุทธัจจสูตรที่ ๑ ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๙๘/๓๖๘.

โสดาปัตติผล

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! บุคคลใดย่อมรู้ ย่อมเห็นซึ่ง
ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ ด้วยอาการอย่างนี้
(ตามที่กล่าวแล้ว
ในโสดาปัตติมรรค ๒ จำพวกมีการเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้น);
บุคคลนี้เราเรียกว่า โสดาบัน (ผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส)
ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน
มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า
ขนธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙.

สารีบุตร !
อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้นั่นแหละ ชื่อว่า กระแส
ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๓๕/๑๔๓๑.

สูตรข้างบนนี้ (ขนธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙) ทรงแสดงอารมณ์
แห่งอนิจจังเป็นต้น ด้วยธรรม ๖ อย่าง คืออายตนะภายในหก;
ในสูตรถัดไปทรงแสดงอารมณ์นั้นด้วยอายตนะภายนอกหกคือ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็มี, แสดงด้วยวิญญาณหก
ก็มี, ด้วยสัมผัสหก ก็มี, ด้วยเวทนาหก ก็มี, ด้วยสัญญาหก ก็มี,
ด้วยสัญเจตนาหก ก็มี, ด้วยตัณหาหก ก็มี, ด้วยธาตุหก ก็มี, และ
ด้วยขันธ์ห้า ก็มี; ทรงแสดงไว้ด้วยหลักการปฏิบัติอย่างเดียวกัน.

โสดาปัตติมรรค ๒ จำพวก

ก. สัทธานุสารี
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ
เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นปกติ มีความเปลี่ยน
เป็นอย่างอื่นเป็นปกติ.
ภิกษุ ทั้งหลาย.! บุคคลใด มีความเชื่อน้อมจิตไป
ในธรรม ๖ อย่างนี้ ด้วยอาการอย่างนี้;
บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็น สัทธานุสารี
หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง)
หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ)
ล่วงพ้นบุถุชนภูมิ ไม่อาจที่จะกระทำกรรม อันกระทำแล้ว
จะเข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน หรือ เปรตวิสัย และไม่ควร
ที่จะทำกาละก่อนแต่ที่จะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.


สัทธานุสารี


ข. ธัมมานุสารี
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ ทนต่อการเพ่ง
โดยประมาณอันยิ่งแห่งปัญญาของบุคคลใด ด้วยอาการ
อย่างนี้;
บุคคลนี้เราเรียกว่า ธัมมานุสารี
หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง)
หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ)
ล่วงพ้นบุถุชนภูมิ ไม่อาจที่จะกระทำกรรม อันกระทำแล้ว
จะเข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน หรือ เปรตวิสัย และไม่ควร
ที่จะทำกาละก่อนแต่ที่จะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.
ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๗๘/๔๖๙.