วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก

“พระโคดมผู้เจริญ ! ทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างไร ?
อนึ่ง อนุสาสนีของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย
ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างไร ?”
อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้,
อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก
มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ว่า :
“ภิกษุ ทั้งหลาย. !
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง.
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน
สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน
วิญญาณไม่ใช่ตัวตน.
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง;
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” ดังนี้.
อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้,
อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก
มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้, ดังนี้.
มู. ม. ๑๒/๔๒๖/๓๙๖.

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลักเกณฑ์การเลือกสถานที่และบุคคล ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์
(ป่าทึบ) แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็
ไม่ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยัง
ไม่สิ้น ก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรม
ที่ยังไม่บรรลุ ก็ไม่บรรลุ, ทั้งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามา
เพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. !
ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
เวลากลางวันหรือกลางคืน พึงหลีกไปเสียจากวนปัตถ์นั้น,
อย่าอยู่เลย.
ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย
วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ไม่
ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้น
ก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ ยังไม่บรรลุ
ก็ไม่บรรลุ; แต่ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจย-
เภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขาร
ของชีวิตหามาได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เราเป็นผู้ออกจากเรือนบวช
เพราะเหตุแห่งจีวรก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาตก็
หามิได้ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะก็หามิได้ เพราะเหตุแห่ง
คิลานปัจจยเภสัชชบริขารก็หามิได้”; ครั้นพิจารณาเห็น
ดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงหลีกไปจากวนปัตถ์นั้น, อย่าอยู่เลย.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้เข้าไปอาศัย
วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ตั้ง
ขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้น ก็ถึง
ความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุ ก็บรรลุ;
แต่จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร
อันบรรพชิตพึงแสวงหาเพื่อเป็นบริขารของชีวิตนั้น
หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นโดย
ประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เรามิได้ออกจากเรือนบวช
เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่ง
เสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจยเภสัชชบริขาร”;
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงอยู่ในวนปัตถ์นั้น
อย่าหลีกไปเสียเลย.
ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย
วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ตั้งขึ้นได้,
จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้น ก็ถึงความสิ้น,
และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุ ก็บรรลุ, ทั้งจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อัน
บรรพชิตจะแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิตนั้น ก็หา
ได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์
ดังนี้แล้ว พึงอยู่ในวนปัตถ์นั้น จนตลอดชีวิต, อย่าหลีก
ไปเสียเลย.
(ในกรณีแห่ง การเลือกหมู่บ้าน นิคม นคร ชนบท และ
บุคคล ที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์
อย่างเดียวกัน).
มู. ม. ๑๒ / ๒๑๒- ๒๑๘ / ๒๓๕- ๒๔๒.

ความไม่ประมาท ยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรืออกุศลธรรมที่เกิดอยู่แล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป, เหมือนความไม่ประมาท นี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว,
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดอยู่แล้ว ก็เสื่อมสิ้นไป.
เอก. อํ. ๒๐/๑๓/๖๐.

ลักษณะของบุคคลสี่ประเภท

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลสี่จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก. สี่จำพวก อย่างไรเล่า ? สี่จำพวกคือ
กายออก แต่จิตไม่ออก (นิกฺกฏฺฐกาโย อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต)
กายไม่ออก แต่จิตออก (อนิกฺกฏฺฐกาโย นิกฺกฏฺฐจิตฺโต)
กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก (อนิกฺกฏฺฐกาโย จ อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ)
กายก็ออก จิตก็ออก (นิกฺกฏฺฐกาโย จ นิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ)
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายออก แต่จิตไม่ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ,
ในที่นั้น ๆ เขาวิตกซึ่งกามวิตกบ้าง ซึ่งพ ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งวิหิงสาวิตกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคล กายออก แต่จิตไม่ออก.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายไม่ออก แต่จิตออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ไม่ได้เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ,
ในที่นั้น ๆ เขาวิตกซึ่งเนกขัมมวิตกบ้าง ซึ่งอัพ ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งอวิหิงสาวิตกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล กายไม่ออก แต่จิตออก.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ไม่ได้เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ,
ในที่นั้น ๆ เขาวิตกซึ่งกามวิตกบ้าง ซึ่งพ ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งวิหิงสาวิตกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แลบุคคลที่ กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายก็ออก จิตก็ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ,
ในที่นั้น ๆ เขาวิตกซึ่งเนกขัมมวิตกบ้าง ซึ่งอัพ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งอวิหิงสาวิตกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคลที่ กายก็ออก จิตก็ออก.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้แล มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.
จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘๕/๑๓๘.

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ

(๑) ความรักเกิดจากความรัก
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนา
รักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติ
กระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่
น่าพอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า
“บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่
พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ” ดังนี้;
บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นใน
บุคคลเหล่านั้น.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า
ความรักเกิดจากความรัก.
(๒) ความเกลียดเกิดจากความรัก
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนา
รักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติ
กระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่
พอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า
“บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนา
รักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่
พอใจ” ดังนี้;
บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้น
ในบุคคลเหล่านั้น.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า
ความเกลียดเกิดจากความรัก.
(๓) ความรักเกิดจากความเกลียด
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่
ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่น
มาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่ารักใคร่พอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมา
อย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เรา
ไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้;
บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคล
เหล่านั้น.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า
ความรักเกิดจากความเกลียด.
(๔) ความเกลียดเกิดจากความเกลียด
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่
ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมา
ประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนา
น่ารักใคร่น่าพอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมา
อย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เรา
ไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่
น่าพอใจ” ดังนี้;
บุคคลนั้น ชื่อว่า ย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้น
ในบุคคลเหล่านั้น.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อย่างนี้แล เรียกว่า
ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.
จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๘๐/๒๐๐.

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า ท่านพระโคดม ! พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำ
บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร ?
ทีฆตปัสสี ! ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรม ๆ ดังนี้
เป็นอาจิณ.
ท่านพระโคดม ! ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการ
ทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร ?
ทีฆตปัสสี ! เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำ
บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ
คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.
ท่านพระโคดม ! ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่าง
หนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง มิใช่หรือ ?
ทีฆตปัสสี ! กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรม
อย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.
ท่านพระโคดม ! ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนก
ออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ กรรมไหน คือ
กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษ
มากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ?
ทีฆตปัสสี ! บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่
จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้
เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำ
บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติ
กายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมาก เหมือนมโนกรรม
หามิได้.
ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ?
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ?
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม ! พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ ?
ทีฆตปัสสี ! เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยัน
ในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้ แล้วลุกจาก
อาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.
ม. ม. ๑๓/๕๔/๖๒.

มโนกรรม การทำกรรมทางใดมีโทษมากที่สุด