วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ตั้งจิตในกายคตาสติ เสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมัน

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือนหมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า
มีนางงามในชนบทพึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้น
น่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าดูอย่างยิ่งในการขับร้อง
หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบทจะฟ้อนรำขับร้อง
พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ
ครั้งนั้น บุรุษผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย
ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์
พึงมากล่าวกะหมู่มหาชนนั้นอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญ ! ท่านพึงนำภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้
ไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามในชนบท
และจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษผู้นำหม้อน้ำมันนั้นไปข้างหลัง ๆ
บอกว่า ท่านจักทำน้ำมันนั้นหกแม้หน่อยหนึ่งในที่ใด
ศีรษะของท่านจักขาดตกลงไปในที่นั้นทีเดียว” .
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อ
นั้นเป็นอย่างไร ? บุรุษผู้นั้นจะไม่ใส่ใจภาชนะน้ำมัน
โน้น แล้วพึงประมาทในภายนอกเทียวหรือ.
“ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจ
เนื้อความนี้ชัดขึ้น เนื้อความในข้อนี้มีอย่างนี้แล คำว่า
ภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยม เป็นชื่อของ กายคตาสติ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
เธอทั้งหลายพึงทำการศึกษาอย่างนี้ว่า
กายคตาสติ จักเป็นของอันเราเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน
กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เธอทั้งหลายพึงทำการศึกษาอย่างนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมไม่บริโภคอมตะ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมบริโภคอมตะ ;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ชนเหล่าใด ประมาทกายคตาสติ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ประมาทอมตะ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ชนเหล่าใด ไม่ประมาทกายคตาสติ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ประมาทอมตะ ดังนี้ แล.
มหาวาร. สํ ๑๙ / ๒๒๖-๒๒๗ / ๗๖๓–๗๖๖.
เอก.อํ ๒๐ / ๕๙ / ๒๓๕,๒๓๙.

พุทธวจน มรรควิธีที่ง่าย

กระดองของบรรพชิต

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน :
เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น,
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากิน (เดินเข้ามา) แต่ไกล,
ครั้นแล้วจึงหดอวัยวะทั้งหลาย
มีศีรษะเป็นที่ห้าเข้าในกระดองของตนเสียเป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน,
ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า
“เมื่อไรหนอเต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก
ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้าแล้ว
จักกัดอวัยวะส่วนนั้นคร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา
สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาสต้องหลีกไปเอง ;
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ฉันใดก็ฉันนั้น :
มารผู้ใจบาป ก็คอยช่องต่อพวกเธอทั้งหลาย
ติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง
ไม่ทางตา
ก็ทางหู
หรือทางจมูก
หรือทางลิ้น
หรือทางกาย
หรือทางใจ”, ดังนี้.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด ;
ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่น
ด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วย
กาย, หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด,
อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย,
สิ่งที่เป็นอกุศลลามก คือ
อภิชฌา (โลภอยากได้ของเขา) และ
โทมนัส (ความเป็นทุกข์ใจ)
จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ,
พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้,
พวกเธอทั้งหลายจงรักษาและถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกาลใด
พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ ;
ในกาลนั้นมารผู้ใจบาป
จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลายและจักต้องหลีกไปเอง,
เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่อง จากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด,
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ)
ไว้ในกระดอง ฉันนั้น,
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้,
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น,
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด,
เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.
สฬา. สํ. ๑๘ / ๒๒๒ / ๓๒๐.

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ศิลปะแห่งการปลุกเร้าความเพียร

ภิกษุ ท. ! อารัพภวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร) ๘ อย่าง เหล่านี้มี
อยู่. แปดอย่าง อย่างไรเล่า ? แปดอย่างคือ :-
๑. ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ การงานอันภิกษุจะต้องทำมีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
“การงานเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ แต่เมื่อกระทำการงานอยู่
มันไม่เป็นการง่าย ที่จะกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.
เอาเถิดถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง”
ดังนี้. เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ เพื่อกระทำ
ให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๑.

๒. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : การงานอันภิกษุกระทำเสร็จแล้วมีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดว่า
“เราได้กระทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่นั้น
เราไม่สามารถกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่
กระทำให้แจ้ง. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๒.

๓. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : หนทางอันภิกษุต้องเดิน มีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดว่า
“หนทางเป็นสิ่งที่เราจักต้องเดิน แต่เมื่อเราเดินทางอยู่
มันไม่เป็นการง่าย ที่จะกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๓ .

๔. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : หนทางอันภิกษุเดินแล้ว มีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดว่า
“เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่
เราไม่สามารถกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้ง
สิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๔.

๕. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม
ไม่ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ.
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
“เมื่อเราเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ
แต่กายของเรากลับเป็นกายที่เบา ควรแก่การงาน.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักอาศัยกายที่เบาควรแก่การประกอบการงานนั้นๆ รีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๕.

๖. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม
ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ.
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
“เมื่อเราเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ
แต่กายของเราก็ยังเป็นกายที่เบา ควรแก่การงานอยู่.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักอาศัยกายที่เบาควรแก่การประกอบการงานนั้นๆ รีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. !นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๖.

๗. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อาพาธเล็กน้อยที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ
มีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
“อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราแต่มัน
อาจเป็นไปได้ว่า อาพาธนั้นจักลุกลาม.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง”
ดังนี้. เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๗.

๘. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเป็นผู้หายจากความเจ็บไข้แล้วไม่นาน มีอยู่.
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราหายจากความเจ็บไข้แล้วไม่นาน
แต่มันอาจเป็นไปได้ว่า อาพาธนั้นจักหวนกลับมาอีก.
เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.
เธอนั้นจึงปรารภความเพียร
เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ
เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๘.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล อารัพภวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร) แปด
อย่าง.
- อฏฐก. อํ.๒๓/๓๔๕/๑๘๖.

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

หลักในการใช้จ่ายทรัพย์

คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ที่ตน
หาได้มา ด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วย
กำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ
๔ ประการอย่างไรเล่า ? ๔ ประการในกรณีนี้คือ :-
๑. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มา
โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการเลี้ยงตน
ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง,
ในการเลี้ยงมารดาและบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหาร
ท่านทั้งสองให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงบุตร
ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิง ให้เป็นสุข อิ่มหนำ
บริหารให้อยู่กันอย่างเป็นสุขโดยถูกต้อง, ในการเลี้ยงมิตร
อำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง
นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว
บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล (อายตนโส)
คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก :
๒. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มา
โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการปิดกั้น
อันตรายทั้งหลาย ทำตนให้สวัสดีจากอันตรายทั้งหลาย
ที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาท
ที่ไม่เป็นที่รักนั้น ๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๒
อันอริยสาวกนั้นถึงแล้วบรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบ
ด้วยเหตุผล คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก :
๓. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มา
โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวข้างต้น) ในการกระทำพลีกรรม
๕ ประการ คือ สงเคราะห์ญาติ (ญาติพลี) สงเคราะห์แขก
(อติถิพลี) สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ปุพพเปตพลี) ช่วย
ชาติ (ราชพลี) บูชาเทวดา (เทวตาพลี) นี้เป็นการบริโภค
ทรัพย์ ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภค
แล้วโดยชอบด้วยเหตุผล คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก :
๔. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหามาได้
โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการตั้งไว้ซึ่ง
ทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้งดเว้นแล้วจาก
ความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะผู้ฝึกฝน ทำความสงบ ทำความดับเย็น แก่ตนเอง อันเป็น
ทักษิณาทานที่มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุข
เป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการ
บริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว
บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์
ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวม
มาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรม
ในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้. 


จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑