วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เครื่องนำไปสู่ภพ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
พระองค์ตรัสอยู่ว่า 
‘เครื่องนำไปสู่ภพ เครื่องนำไปสู่ภพ’ ดังนี้
ก็เครื่องนำไปสู่ภพ เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า !
และความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพนั้น
เป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า !

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี
ราคะ (ความกำหนัด) ก็ดี
นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี
ตัณหา (ความอยาก)ก็ดี
อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ)
และอุปาทาน(ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส)
อันเป็นเครื่องตั้งทับ
เครื่องเข้าไปอาศัย
และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดีใดๆ
ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ
กิเลสเหล่านี้ นี่เราเรียกว่า ‘เครื่องนำไปสู่ภพ
ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพ
มีได้เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส
มีฉันทะ ราคะ เป็นต้น เหล่านั้นเอง.
ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๓/๓๖๘.

ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๒)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผูมี้พระภาคเจ้ากล่าวอยู่ว่า
‘ภพ–ภพ’ ดังนี้ ภพ ย่อมมีได้
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีกามธาตุเป็นวิบาก
จักไม่ได้มีแล้วไซร้
กามภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยางของพืช (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก)
ความเจตนาก็ดี
ความปรารถนาก็ดี
ของสัตว์ทั้งหลาย
ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม (กามธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีรูปธาตุเป็นวิบาก
จักไม่ได้มีแล้วไซร้
รูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยางของพืช
ความเจตนาก็ดี
ความปรารถนาก็ดี
ของสัตว์ทั้งหลาย
ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีอรูปธาตุเป็นวิบาก
จักไม่ได้มีแล้วไซร้
อรูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยางของพืช
ความเจตนาก็ดี
ความปรารถนาก็ดีของสัตว์ทั้งหลาย
ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหมต่อ ไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.
ติก. อํ. ๒๐/๒๘๘/๕๑๗.

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลักษณะของ “ฆราวาส ชั้นเลิศ”

คหบดี !  ในบรรดากามโภคี (ฆราวาส) เหล่านั้น

กามโภคีผู้ใด แสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัด
(เกินไปจนทรมานตน) ด้วย, ครั้นแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรมโดยไม่เครียดครัดแล้ว 

ทำตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำด้วย,
แบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญด้วย, 
ไม่กำหนัด ไม่มัวเมาไม่ลุ่มหลง 
มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก

บริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่ด้วย;

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ ควรสรรเสริญโดยฐานะทั้งสี่ คือ :-

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่หนึ่ง 
ในข้อที่เขาแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัด,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สอง 
ในข้อที่เขาทำตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สาม 
ในข้อที่เขาแบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญ,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สี่ 
ในข้อที่เขาไม่กำหนัด ไมมั่วเมา ไมลุ่มหลง มีปกติเห็นโทษ มีปัญญา
เป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้น.

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ควรสรรเสริญโดยฐานะทั้งสี่เหล่านี้.

คหบดี ! กามโภคีจำพวกนี้ 
เป็นกามโภคีชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นหัวหน้า 
ชั้นสูงสุด ชั้นบวรกว่ากามโภคีทั้งหลาย,

เปรียบเสมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด 
เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น
หัวเนยใสเกิดจากเนยใส; หัวเนยใสปรากฏว่าเลิศกว่า
บรรดารสอันเกิดจากโคทั้งหลายเหล่านั้น,

ข้อนี้ฉันใด; กามโภคีจำพวกนี้ ก็ปรากฏว่าเลิศกว่า
บรรดากามโภคีทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้น แล.


                              ทสก. อํ. ๒๔/๑๙๔/๙๑.




การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

ภิกษุทั้งหลาย !  เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง.
ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ 

๑. มารดา 
๒. บิดา

ภิกษุทั้งหลาย ! 
บุตรพึงประคับประคองมารดา ด้วยบ่าข้างหนึ่ง 
พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสอง
นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบนํ้าและการดัด
และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง
ของเขานั่นแหละ. 

ภิกษุทั้งหลาย ! 
การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว 
หรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! 
อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดา บิดาในราชสมบัติ 
อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่
อันมีรัตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้ 

การกระทำกิจอย่างนั้น 
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้ว

แก่มารดาบิดาเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย.

ส่วนบุตรคนใด 
ยังมารดาบิดา  ผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา).
ยังมารดาบิดา  ผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล).
ยังมารดาบิดา  ผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค).
ยังมารดาบิดา  ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา).

ภิกษุทั้งหลาย ! 
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า 
อันบุตรนั้นทำแล้ว และ ทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา.

ทุก. อํ. ๒๐/๗๘/๒๗๘.



หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อม
ทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรม
ที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”.

คหบดีบุตร !
พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :-
พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า ),
พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง),
พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย),
พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็น เหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องตํ่า),

พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน
(๒) เราจักทำกิจของท่าน
(๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล
(๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท
(๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ศึกษาศิลปะ
(๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร
(๕) มอบมรดกให้ตามเวลา
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ
(๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้
(๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง
(๔) ด้วยการปรนนิบัติ
(๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) แนะนำดี
(๒) ให้ศึกษาดี
(๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง
(๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย
(๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยการยกย่อง
(๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น
(๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
(๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) จัดแจงการงานดี
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
(๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยการให้ปัน
(๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ
(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์
(๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน
(๕) ดว้ ยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
(๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย
(๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย
(๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง
(๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล
(๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้
(๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้
(๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
(๒) เลิกงานทีหลังนาย
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด
(๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยเมตตากายกรรม
(๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม
(๓) ด้วยเมตตามโนกรรม
(๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ)
(๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :-

(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม
(๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
(๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด
(๖) บอกทางสวรรค์ให้

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

ปา. ที. ๑๑/๑๙๕-๒๐๖/๑๗๔-๒๐๕.






วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๑)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผูมี้พระภาคเจ้ากล่าวอยู่ว่า
‘ภพ–ภพ’ ดังนี้ ภพ ย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีกามธาตุ เป็นวิบาก
จักไม่ได้มีแล้วไซร้
กามภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช
วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย
มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วย ธาตุชั้นทราม (กามธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.


อานนท์ ! ถ้ากรรมมีรูปธาตุ เป็นวิบาก
จักไม่ได้มีแล้วไซร้
รูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยางของพืช
วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย
มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.


อานนท์ ! ถ้ากรรมมีอรูปธาตุ เป็นวิบาก จักไม่ได้มี
แล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นเมล็ดพืช
ตัณหาเป็นยางของพืช
วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย
มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ)
การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป
ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.


อานนท์ ! ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

ติก. อํ. ๒๐/๒๘๗/๕๑๖.
____________
1. กามธาตุ : ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุลมและธาตุไฟ.
(ดูเพิ่มเติม ไตรปิฎกไทย นิทาน. สํ. ๑๖/๑๔๘/๓๕๕-๖.)
2. รูปธาตุ : สิ่งที่เป็นรูปในส่วนละเอียด. (ดูเพิ่มเติม “มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน
มีอินทรีย์ไม่ทราม” ไตรปิฎกไทย สี. ที. ๙/๓๒/๔๙.)
3. อรูปธาตุ : สิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร.
(ผู้ได้สมาธิระดับ อากาสานัญจายตนะขึ้นไป)

ภพ เป็นอย่างไร

ภิกษุทั้งหลาย ! ภพ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่าง เหล่านี้คือ :-
กามภพ รูปภพ อรูปภพ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ.
ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี
เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน
ความดับไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมี
เพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน
มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง
เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งภพ
ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ
การพูดจาชอบ
การทำการงานชอบ
การเลี้ยงชีวิตชอบ
ความพากเพียรชอบ
ความระลึกชอบ
ความตั้งใจมั่นชอบ.
นิทาน. สํ. ๑๖/๕๑/๙๑.
___________
1. ภพ : สถานที่อันวิญญาณใช้ตั้งอาศัยเพื่อเกิดขึ้น หรือเจริญงอกงามต่อไป.
(ดูเพิ่มเติมเปรียบกับส่วนของพืชเช่น เมล็ด ที่สามารถเจริญงอกงามต่อไปได้)
2. กามภพ : ที่เกิดอันอาศัย ดิน นํ้า ไฟ ลม, รูปภพ : สถานที่เกิดอันอาศัย
สิ่งที่เป็นรูปในส่วนละเอียด, อรูปภพ : สถานที่เกิดอันอาศัยสิ่งที่ไม่ใช่รูป.