วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทสวดระลึกถึงพระพุทธเจ้า

อิธะ ตะถาคะโต โลเก อุปปัชชะติ
ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้

อะระหัง
เป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ
ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

วิชชาจะระณะสัมปันโน
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

สุคะโต
เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี

โลกะวิทู
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

สัตถา เทวะมะนุสสานัง
เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรม

ภะคะวา
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

โส อิมัง โลกัง
ตถาคตนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้

สะเทวะกัง สะมาระกัง สะพ๎รัห๎มะกัง๎ สัสสะมะณะพ๎ราห๎มะณิง
กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์

ปะชัง สะเทวะมะนุสสัง
เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์

สะยัง อภิญญา
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว

สัจฉิกัต๎วา ปะเวเทสิ
สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม

โส ธัมมัง เทเสสิ
ตถาคตนั้นแสดงธรรม

อาทิกัล๎ยาณัง
ไพเราะในเบื้องต้น

มัชเฌกัล๎ยาณัง
ไพเราะในท่ามกลาง

ปะริโยสานะกัล๎ยาณัง
ไพเราะในที่สุด

สาตถัง สะพ๎ยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พ๎รัห๎มะจะริยัง ปะกาเสติ
ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือ แบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ดังนี้

    -บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๗/๑๖.

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย !  บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก. 
สามจำพวกอย่างไรเล่า ?   สามจำพวกคือ :-
คนตาบอด (อนฺโธ),
คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ),
คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ).

    ภิกษุทั้งหลาย !  คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ?
    คือคนบางคนในโลกนี้ 
ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น  นี้อย่างหนึ่ง; 
และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ 
- ธรรมเลวและธรรมประณีต 
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว
  นี้อีกอย่างหนึ่ง. 
 ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล  คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).

ภิกษุทั้งหลาย !  คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ?
    คือคนบางคนในโลกนี้
มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;
แต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว
 
นี้อีกอย่างหนึ่ง.
    ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล  คนมีตาข้างเดียว.

    ภิกษุทั้งหลาย !  คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ?
    คือคนบางคนในโลกนี้
มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น  นี้อย่างหนึ่ง;
และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ 
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว
  นี้อีกอย่างหนึ่ง. 
    ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล  คนมีตาสองข้าง.

...ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา)  เป็นอย่างไรเล่า ? 
    คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
“นี้ทุกข์,
นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” 
ดังนี้.
    ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.

    -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๖๒/๔๖๘.
    -บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๔๗/๔๕๙.

พุทธวจน คนมีตาสองข้าง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

อย่าหูเบา

(๑) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
ฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว)
(๒) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
กระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร)
(๓) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
เล่าลือกันอยู่ (อิติกิร)
(๔) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
มีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาย)
(๕) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน (ตกฺกเหตุ) (๖) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
การใช้เหตุผลทางนัยะสันนิษฐาน (นยเหตุ)
(๗) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
การตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก)
(๘) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
ทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ)
(๙) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
ฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา)
(๑๐) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า
 สมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณ โน ครุ).

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๔๑-๒๔๘/๕๐๕.

พุทธวจน เกสปุตตสูตร

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

อานาปานสติ : เป็นสุขวิหารระงับได้ซึ่งอกุศล

(ทรงปรารภเหตุที่ ภิกษุทั้งหลายได้ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เนื่องจากเกิดความอึดอัดระอา เกลียดกายของตน เพราะการปฏิบัติอสุภภาวนา จึงได้ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิแก่ภิกษุเหล่านั้น).

ภิกษุทั้งหลาย !  อานาปานสติสมาธินี้แล
อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของรำงับ
เป็นของประณีต เป็นของเย็น
เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป อันเกิดขึ้นแล้ว
และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ.

ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน
ฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา
ย่อมทำฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป
ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย !  อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ก็เป็นของระงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น
เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว
และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป
ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  ก็อานาปานสติสมาธิ
อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า ?
ที่เป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น
เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรม
อันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป
ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะได้.

    ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในกรณีนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม
ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว
ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น; ภิกษุนั้นมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
    (แต่นี้ได้ตรัสไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเหมือนใน พระสูตร ทุกประการ).

ภิกษุทั้งหลาย !  อานาปานสติสมาธิ
อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้
ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น
 เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป
ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป
ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ ดังนี้ แล.

    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๖/๑๓๕๒.
    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๒.
    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๓.
    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๔.
    -บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๘/๑๓๕๔.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๒๘/๑๗๖.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๒๙/๑๗๖.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๓๐/๑๗๖.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๓๐/๑๗๗.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๓๑/๑๗๗.
    -บาลี มหา. วิ. ๑/๑๓๑/๑๗๘.

พุทธวจน อานาปานสติ เป็นสุขวิหาร



จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน

...พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป
    เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน
    เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล
    เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

...จงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น
    งดงามในท่ามกลาง งดงามในเบื้องปลาย
    ...ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
    ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่
สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม
สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่ ... .

    -บาลี มหา. วิ. ๔/๓๙/๓๒.


วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศีล ๕

(ปาณาติปาตา เวรมณี) เธอนั้น ละปาณาติบาต
เว้นขาดจากปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์)
วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา
หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่.
(อทินนาทานา เวรมณี) เธอนั้น ละอทินนาทาน
เว้นขาดจากอทินนาทาน (ลักทรัพย์)
ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว
หวังอยู่แต่ของที่เขาให้
ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่.
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด)
ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง
หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา
เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม
โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย)
ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
(มุสาวาทา เวรมณี) เธอนั้น ละมุสาวาท 
เว้นขาดจากมุสาวาท
พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด
มีคำพูดควรเชื่อถือได้
ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก.
(สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา
คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท.

-บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๔๗/๒๘๖.
-บาลี สี. ที. ๙/๘๓/๑๐๓.
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕/๑๖๕.


ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ
ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ
และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจ
ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้น
ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว
สละแล้วไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ
ทราบชัดว่าพระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ
บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว
ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้.

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ
ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี
และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ
นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ
นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๓/๔๔.

พุทธวจน ย่อมได้ของที่พอใจ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผลจากความไม่มีธรรมะของมนุษย์ (อย่างหนัก)

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อพระราชา มีการกระทำ ชนิด
ที่เป็นไปแต่เพียงเพื่อการคุ้มครองอารักขา,
แต่มิได้เป็นไปเพื่อการกระทำให้เกิดทรัพย์ แก่บุคคลผู้ไม่มีทรัพย์ทั้งหลาย
ดังนั้นแล้ว ความยากจนขัดสน ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะความยากจนขัดสนเป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ก็เป็นไปอย่าง
กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะอทินนาทานเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด การใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่างๆ ก็เป็นไปอย่าง
กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
เพราะการใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่างๆ เป็นไป
อย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด ปาณาติบาต (ซึ่งหมายถึง
การฆ่ามนุษย์ด้วยกัน) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึง
ที่สุด;
เพราะปาณาติบาตเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด มุสาวาท (การหลอกลวงคดโกง) ก็เป็นไปอย่าง
กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาจาก ๘ หมื่นปี
เหลือเพียง ๔ หมื่นปี)
เพราะมุสาวาทเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด ปิสุณาวาท (การพูดจายุแหย่เพื่อการแตกกันเป็นก๊ก
เป็นหมู่ ทำลายความสามัคคี) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒ หมื่นปี)
เพราะปิสุณาวาทเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด กาเมสุมิจฉาจาร (การทำชู้ การละเมิดของรักของ
บุคคลอื่น) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๑ หมื่นปี)
เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด ผรุสวาท และ สัมผัปปลาปวาท (การใช้
คำหยาบ และคำพูดเพ้อเจ้อเพื่อความสำราญ) ก็เป็นไปอย่าง
กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๕ พันปี)
เพราะผรุสวาทและสัมผัปปลาปวาทเป็นไป
อย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด อภิชฌาและพยาบาท
(แผนการกอบโกย และการทำลายล้าง) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒,๕๐๐-
๒,๐๐๐ ปี)
เพราะอภิชฌาและพยาบาทเป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดชนิดเห็นกงจักร
เป็นดอกบัว นิยมความชั่ว) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด;
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๑,๐๐๐ ปี)
เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้า
ถึงที่สุด (อกุศล) ธรรมทั้งสาม คือ อธัมมราคะ (ความยินดี
ที่ไม่เป็นธรรม) วิสมโลภะ (ความโลภไม่สิ้นสุด) มิจฉาธรรม
(การประพฤติตามอำนาจกิเลส) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง
แรงกล้าถึงที่สุด (อย่างไม่แยกกัน);
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๕๐๐ ปี)
เพราะ (อกุศล) ธรรม ทั้งสาม ... นั้นเป็นไปอย่าง
กว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด (อกุศล) ธรรมทั้งหลาย คือ
ไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องในมารดา, บิดา, สมณพราหมณ์
ไม่มี กุลเชฏฐาปจายนธรรม (ความอ่อนน้อมตามฐานะสูง ต่ำ )
ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด.
(ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง ๒๕๐-
๒๐๐-๑๐๐ ปี)
สมัยนั้น จักมีสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยลดลงมา
เหลือเพียง ๑๐ ปี (จักมีลักษณะแห่งความเสื่อมเสียมีประการ
ต่างๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า) : หญิงอายุ ๕ ปี ก็มีบุตร;
รสทั้งห้า คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และ
รสเค็ม ก็ไม่ปรากฏ;
มนุษย์ทั้งหลาย กินหญ้าที่เรียกว่า
กุท๎รูสกะ (ซึ่งนิยมแปลกันว่าหญ้ากับแก้) แทนการกินข้าว;
กุศลกรรมบถหายไป ไม่มีร่องรอย, อกุศลกรรมบถ
รุ่งเรืองถึงที่สุด;
ในหมู่มนุษย์ ไม่มีคำพูดว่ากุศล จึงไม่มีการทำกุศล;
มนุษย์สมัยนั้น จักไม่ยกย่องสรรเสริญ ความ
เคารพเกื้อกูลต่อมารดา (มัตเตยยธรรม), ความเคารพ
เกื้อกูลต่อบิดา (เปตเตยยธรรม), ความเคารพเกื้อกูลต่อ
สมณะ (สามัญญธรรม), ความเคารพเกื้อกูลต่อพราหมณ์
(พรหมัญญธรรม), และกุลเชฏฐาปจายนธรรม, เหมือนอย่าง
ที่มนุษย์ยกย่องกันอยู่ในสมัยนี้;
ไม่มีคำพูดว่า แม่ น้าชาย น้าหญิง พ่อ อา ลุง ป้า ภรรยาของอาจารย์ และคำพูดว่า
เมียของครู; สัตว์โลกจักกระทำการสัมเภท (สมสู่สำส่อน)
เช่นเดียวกันกับแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข สุนัขจิ้งจอก;
ความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดฆ่า
เป็นไปอย่างแรงกล้า แม้ในระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับ
มารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชาย
และหญิง เหมือนกับที่นายพรานมีความรู้สึกต่อเนื้อทั้งหลาย.
ในสมัยนั้น จักมี สัตถันตรกัปป์ (การใช้ศัสตราวุธ
ติดต่อกันไม่หยุดหย่อน) ตลอดเวลา ๗ วัน : สัตว์ทั้งหลาย
เหล่านั้น จักมีความสำคัญแก่กันและกัน ราวกะว่า
เนื้อ; แต่ละคนมีศัสตราวุธในมือ ปลงชีวิตซึ่งกันและ
กันราวกะว่า ฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ.
(มีมนุษย์หลายคน ไม่เข้าร่วมวงสัตถันตรกัปป์ด้วย
ความกลัว หนีไปซ่อนตัวอยู่ในที่ที่พอจะซ่อนตัวได้ตลอด ๗ วัน
แล้วกลับออกมาพบกันและกัน ยินดีสวมกอดกัน กล่าวแก่กันและ
กันในที่นั้นว่า มีโชคดีที่รอดมาได้ แล้วก็ตกลงกันในการตั้งต้น
ประพฤติธรรมกันใหม่ต่อไป ชีวิตมนุษย์ก็ค่อยเจริญขึ้น จาก ๑๐ ปี
ตามลำดับๆ จนถึงสมัย ๘ หมื่นปี อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเป็นสมัย
แห่งศาสนาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่า เมตเตยยสัมมาสัมพุทธะ).
ปา. ที. ๑๑/๗๐-๘๐/๓๙-๔๗.