วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เหตุให้เข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ (นัยที่ ๒)

ภิกษุ !  บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
เขาได้ฟังมาว่า พวกเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ราก
มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า :-
    “โอหนอ !  เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ราก”
    เขาจึงให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป ครั้นตายไป เขาย่อมเข้าถึง

ความเป็นสหายของพวกเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ราก.
    ภิกษุ !  ข้อนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ราก

    (ตรัสอย่างดียวกันกับกรณีของเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่แก่น, มีกลิ่นที่กระพี้, มีกลิ่นที่เปลือก, มีกลิ่นที่กะเทาะ, มีกลิ่นที่ใบ, มีกลิ่นที่ดอก, มีกลิ่นที่ผล, มีกลิ่นที่รส, มีกลิ่นที่กลิ่น)



-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๑๒/๕๔๐.

เหตุให้เข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์(นัยที่ ๑)

ภิกษุ !  บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
เขาได้ฟังมาว่า พวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์
มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข
เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า :-
    “โอหนอ !  เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของพวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์” ครั้นตายไป เขา

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์.
    ภิกษุ !  ข้อนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์.

    (ในสูตรถัดไป ได้ตรัสถึงการสร้างเหตุอย่างเดียวกัน แต่ว่าลงรายละเอียดไปในแต่ละประเภทของเทวดาเหล่านี้)


-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๐๙/๕๓๗.

เทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์

ภิกษุทั้งหลาย !  เราจักแสดงพวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ (คนฺธพฺพกายิกา เทวา) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี

เราจักกล่าว.
    ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ เป็นอย่างไรเล่า ?
    พวกเทวดาซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่รากก็มี (มูลคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่แก่นก็มี (สารคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กระพี้ก็มี (เผคฺคุคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่เปลือกก็มี (ตจคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กะเทาะก็มี (ปปฏิกคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ใบก็มี (ปตฺตคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ดอกก็มี (ปุปฺผคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ผลก็มี (ผลคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่รสก็มี (รสคนฺธ อธิวตฺถ)
    อาศัยอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กลิ่นก็มี (คนฺธคนฺธ อธิวตฺถ)
    ภิกษุทั้งหลาย !  พวกนี้เราเรียกว่า พวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์

บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๐๙/๕๓๖.

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๒)

ภิกษุทั้งหลาย !  ทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้มีอยู่  ๗ ประการเป็นอย่างไร คือ
    (๑) ทรัพย์คือ ศรัทธา (๒) ทรัพย์คือ ศีล (๓) ทรัพย์คือ หิริ (๔) ทรัพย์คือ โอตตัปปะ (๕) ทรัพย์คือ สุตะ (๖) ทรัพย์คือ จาคะ (๗) ทรัพย์คือ ปัญญา

    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา.
ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือหิริเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันเป็นบาป นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันเป็นบาป
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำได้
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญาคือประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา.
    ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล ทรัพย์ ๗ ประการ.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
    ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะและปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด
เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
เพราะฉะนั้นท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม.

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๕/๖.

พุทธวจน, ทาน, อริยทรัพย์, ทรัพย์ในอริยวินัย,

ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๑)

ภิกษุทั้งหลาย !  ทรัพย์ ๕ ประการเหล่านี้มีอยู่  ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ทรัพย์คือ ศรัทธา (๒) ทรัพย์คือ ศีล (๓) ทรัพย์คือ สุตะ (๔) ทรัพย์คือ จาคะ (๕) ทรัพย์คือ ปัญญา

    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค

พระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร. 
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร. 
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดี

ด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์

บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร. 
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่า

มืออันชุ่ม ยินดีในการสละ
เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ.
    ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร. 
ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส

ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา.
    ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล ทรัพย์ ๕ ประการ.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
    ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
    มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ
    มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง
    บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน
    ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
    เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.

-บาลี ปญจก. อํ. ๒๒/๕๘/๔๗.