วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ความเป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

ภิกษุทั้งหลาย !  แม้พระเจ้าจักรพรรดิ
ได้ครองความเป็นใหญ่ยิ่งแห่งทวีปทั้งสี่
เบื้องหน้าจากการตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย
อาจได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายอยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยหมู่นางอัปษรในสวนนันทวัน
ท้าวเธอเป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า
อันเป็นของทิพย์ อย่างนี้ก็ตาม,
แต่กระนั้นท้าวเธอก็ยัง รอดพ้นไปไม่ได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.
ภิกษุทั้งหลาย !  ส่วนอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
แม้เป็นผู้ยังอัตตภาพให้พอเป็นไปด้วยคำข้าว
ที่ได้มาจากบิณฑบาตด้วยปลีแข้งของตนเอง
พันกายด้วยการนุ่งห่มผ้าปอนๆ ไม่มีชาย,
หากแต่ว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว 
ด้วยธรรม ๔ ประการ
เธอก็ยังสามารถ รอดพ้นเสียได้จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน
จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ? ๔ ประการ คือ :-
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น  ไม่หวั่นไหว ...
ในองค์พระพุทธเจ้า ...
ในองค์พระธรรม  ...
ในองค์พระสงฆ์  ...
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลาย
ชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า ฯลฯ
ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !  ระหว่างการได้ทวีปทั้งสี่
กับการได้ธรรม ๔ ประการนี้นั้น
การได้ทวีปทั้งสี่มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหก
ของการได้ธรรม ๔ ประการนี้ เลย.

-บาลี  มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๘/๑๔๑๑.


เหตุสำเร็จความปรารถนา

ภิกษุทั้งหลาย !  เราจักแสดงเหตุสำเร็จความปรารถนาแก่เธอทั้งหลาย
พวกเธอจงฟังเหตุสำเร็จความปรารถนานั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา
เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว
พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาลเถิด”
ดังนี้ ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น
อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  นี้มรรค นี้ปฏิปทา
เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล.


ภิกษุทั้งหลาย !  ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา
เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว
พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาลเถิด”
ดังนี้ ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น
อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  นี้มรรค นี้ปฏิปทา
เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล.


ภิกษุทั้งหลาย !  ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา
เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว
พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคหบดีมหาศาลเถิด”
ดังนี้ ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น
อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  นี้มรรค นี้ปฏิปทา
เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งคหบดีมหาศาล.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๒๑๗/๓๑๘.



วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

ทานของคนดี (นัยที่ ๒)

ภิกษุทั้งหลาย !  สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ย่อมให้ทานด้วยศรัทธา
(๒) ย่อมให้ทานโดยเคารพ
(๓) ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร
(๔) เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน
(๕) ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและไม่กระทบผู้อื่น

ภิกษุทั้งหลาย !  สัปบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว
ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใสประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก
ในที่ที่ทานนั้นให้ผล
ภิกษุทั้งหลาย !  สัปบุรุษครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว
ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน
เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๒/๑๔๘.
-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๔๐/๑๒๒.




ทานของคนดี (นัยที่ ๑)

ภิกษุทั้งหลาย !  สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้มีอยู่ 
๘ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑)ให้ของสะอาด
(๒) ให้ของประณีต
(๓) ให้ตามกาล
(๔) ให้ของสมควร
(๕)เลือกให้
(๖) ให้เนืองนิตย์
(๗) เมื่อให้จิตผ่องใส 
(๘) ให้แล้วดีใจ
ภิกษุทั้งหลาย !  เหล่านี้แล สัปปุริสทาน ๘ ประการ.

    (คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาลสมควร เนืองนิตย์
ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ผู้เป็นเขตดี สละของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย
ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง
ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้
ผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่
ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มีความเบียดเบียน.

-บาลี อฏ จก. อํ. ๒๓/๒๔๘/๑๒๗.


ทานของคนไม่ดี หรือ ทานของคนดี

ภิกษุทั้งหลาย !  อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่ 
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ให้โดยไม่เคารพ
(๒) ให้โดยไม่อ่อนน้อม
(๓) ไม่ให้ด้วยมือตนเอง
(๔) ให้ของที่เป็นเดน
(๕) ให้โดยไม่คำนึงผลที่จะมาถึง (อนาคมนทิฏฐิ)
ภิกษุทั้งหลาย !  เหล่านี้แล อสัปปุริสทาน ๕ ประการ.

ภิกษุทั้งหลาย !  สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้มีอยู่ 
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ให้โดยเคารพ
(๒) ให้โดยอ่อนน้อม
(๓) ให้ด้วยมือตนเอง
(๔) ให้ของไม่เป็นเดน
(๕) ให้โดยคำนึงผลที่จะมาถึง (อาคมนทิฏฐิ)
ภิกษุทั้งหลาย !  เหล่านี้แล สัปปุริสทาน ๕ ประการ.

-บาลี ปญจก. อํ. ๒๒/๑๙๒/๑๔๗.