วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

น้ำตา ที่เคยหลั่งไหล

ภิกษุทั้งหลาย !  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร
น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ
โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! 
พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
 น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์
ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละ
มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.

ภิกษุทั้งหลาย !  สาธุ สาธุ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ...
โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา ตลอดกาลนาน 
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ
ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละ
มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

...พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ...
ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ... ของบุตร ... ของธิดา ...
ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ...
...พวกเธอได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน

น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น
ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ
นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย.
   ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน
ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! 
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๓/๔๒๕


วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”

ภิกษุทั้งหลาย !  โลกเป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ตถาคตจึงเป็นผู้ถอนตนจากโลกได้แล้ว.
เหตุให้เกิดโลก เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ตถาคตจึงละเหตุให้เกิดโลกได้แล้ว.
ความดับไม่เหลือของโลกเป็นสภาพที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ตถาคตจึงทำให้แจ้งความดับไม่เหลือของโลกได้แล้ว.
ทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ตถาคตจึงทำให้เกิดมีขึ้นได้แล้ว ซึ่งทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลกนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  อายตนะอันใด ที่พวกมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม,
ที่หมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ได้เห็นได้ฟัง ได้ดม-ลิ้ม-สัมผัส ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ
ได้แสวงหา ได้เที่ยวผูกพันติดตามโดยน้ำใจ,
อายตนะนั้น ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วทั้งสิ้น
เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.

ภิกษุทั้งหลาย !  ในราตรีใด ตถาคตได้ตรัสรู้ และในราตรีใด ตถาคตปรินิพพาน,
ในระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอบ พร่ำสอน แสดงออกซึ่งคำใด,
คำนั้นทั้งหมด ย่อมมีโดยประการเดียวกันทั้งสิ้น ไม่แปลกกันโดยประการอื่น,
เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.

ภิกษุทั้งหลาย !  ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร, พรหม,
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ตถาคตเป็นผู้เป็นยิ่ง ไม่มีใครครอบงำ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด
เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (โดยธรรม) แต่ผู้เดียว,
เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”.

บาลี  จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๐/๒๓, อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.


พุทธวจน ตถาคต