วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

สิ่งๆ หนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง

“สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง
เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด
มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบนั้น มีอยู่;

ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้;
ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ความยาว ความสั้น
ความเล็ก ความใหญ่
ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้;

ใน “สิ่ง” นั้นแหละ นามรูป ย่อมดับสนิทไม่มีเศษเหลือ;
นามรูป ดับสนิท ใน “สิ่ง” นี้
เพราะการดับสนิทของวิญญาณ; ดังนี้แล.

-บาลี สี. ที. ๙/๒๘๙/๓๔๘.

สิ่งๆ หนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง นิพพาน

เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง

สัตว์โลกนี้
เกิดความเดือนร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า
ย่อมกล่าวซึ่งโรคนั้น โดยความเป็นตน
เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด
แต่สิ่งนั้นย่อมเป็นโดยประการอื่น จากที่เขาสำคัญนั้น.
สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว
มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น
จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น.
เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นภัย
เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.

พรหมจรรย์นี้
อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ นั้นเอง.
สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวความหลุดพ้นจากภพ ว่ามีได้เพราะ ภพ;
เรากล่าวว่า สมณะทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ.
ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวความออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะ วิภพ;
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น
ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้.

ก็ทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยซึ่ง อุปธิ ทั้งปวง.
ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ไม่มี
ก็เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง.

ท่านจงดูโลกนี้เถิด(จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลาย
อันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว;
และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพ อันเป็นแล้วนั้น
ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้.

ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด
อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง
เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง;
ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น
ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง อย่างนี้อยู่;
เขาย่อมละภวตัณหาได้
และไม่เพลิดเพลินซึ่งวิภวตัณหาด้วย.
ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง
นั้นคือ นิพพาน.
ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว
เพราะไม่มีความยึดมั่น.
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว
ชนะสงครามแล้วก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.
        บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๑๒๑/๘๔.

เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง ผัสสะบังหน้า

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง

ภิกษุทั้งหลาย !  นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้
ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่.
๕ อย่าง อย่างไรเล่า ?  ๕ อย่าง คือ: -
๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ
ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท
ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา)
ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ)
ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา (ความลังเล, สงสัย)
ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ ถอยกำลัง.

ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว
จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ
อันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์
ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้
นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา
ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่างๆ ไปได้
มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น
ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสกลางแม่น้ำนั้น
ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกล
ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆ ไปได้, นี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย !  ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว
จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ
อันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์
ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพไร้กำลัง ดังนี้
นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[ต่อไปนี้ ได้ตรัสโดยปฏิปักขนัย (นัยตรงข้าม) คือ ภิกษุละนิวรณ์แล้ว ทำญาณวิเศษให้แจ้งได้ด้วยปัญญา อันมีกำลังเหมือนแม่น้ำที่เขาอุดรูรั่วทั้งสองฝั่งเสียแล้ว มีกระแสเชี่ยวแรงมากฉะนั้น]

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.

นิวรณ์เป็นเครื่องทำกระแสจิตไม่ให้รวมกำลัง

สิ่งที่ไม่ควรคิด

ภิกษุทั้งหลาย !  อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด
ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.

อจินไตย ๔ คืออะไรบ้างเล่า ?  คือ :-
๑. พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด 
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๓. วิบากแห่งกรรม
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๔. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก)
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.

ภิกษุทั้งหลาย !  นี้แล อจินไตย ๔ ไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.


-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๔/๗๗.

อจินไตย ๔ สิ่งไม่ควรคิด
พุทธวจน แก้กรรม

สิ่งที่ใครๆ ในโลกไม่ได้ตามปรารถนา

ภิกษุทั้งหลาย !  ฐานะ ๕ ประการเหล่านี้
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก
ไม่พึงได้ตามปรารถนา ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ

สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ไม่อาจได้ตามปรารถนาว่า
(๑) สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่เลย
(๒) สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้เลย
(๓) สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตายเลย
(๔) สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไปเลย
(๕) สิ่งที่มีความวินาศเป็นธรรมดา อย่าวินาศเลย


ภิกษุทั้งหลาย !  สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ก็ย่อมแก่สำหรับปุถุชนผู้มิได้สดับ
เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่แล้ว
เขาก็ไม่พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ว่า
“ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
จะแก่สำหรับเราผู้เดียวเท่านั้น
โดยที่แท้แล้ว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ย่อมแก่สำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ
ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่แล้ว
เราจะมามัวเศร้าโศก
กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหล
แม้อาหารก็ไม่ย่อย
กายก็เศร้าหมอง
การงานก็หยุดชงัก
พวกอมิตรก็ดีใจ มิตรสหายก็เศร้าใจ” ดังนี้.
ปุถุชนนั้น เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่แล้ว
ย่อมเศร้าโศก กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหล.
ภิกษุทั้งหลาย !  เรากล่าวว่าปุถุชนผู้มิได้สดับนี้
ถูกลูกศรแห่งความโศก อันมีพิษเสียบแทงแล้ว
ทำตนเองให้เดือดร้อนอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย !  สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ก็ย่อมเจ็บไข้สำหรับปุถุชนผู้มิได้สดับ
เมื่อสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเจ็บไข้แล้ว
เขาก็ไม่พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ว่า
“ไม่ใช่สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
จะเจ็บไข้สำหรับเราผู้เดียวเท่านั้น
โดยที่แท้แล้ว สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ย่อมเจ็บไข้สำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ
ก็เมื่อสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เจ็บไข้แล้ว
เราจะมามัวเศร้าโศก
กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหล
แม้อาหารก็ไม่ย่อย
กายก็เศร้าหมอง
การงานก็หยุดชงัก
พวกอมิตรก็ดีใจ มิตรสหายก็เศร้าใจ” ดังนี้.
ปุถุชนนั้น เมื่อสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เจ็บไข้แล้ว
ย่อมเศร้าโศก กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหล.
ภิกษุทั้งหลาย !  เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับนี้
ถูกลูกศรแห่งความโศก อันมีพิษเสียบแทงแล้ว
ทำตนเองให้เดือดร้อนอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย !  สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
ก็ย่อมตายสำหรับปุถุชนผู้มิได้สดับ
เมื่อสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาตายแล้ว
เขาก็ไม่พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ว่า
“ไม่ใช่สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
จะตายสำหรับเราผู้เดียวเท่านั้น
โดยที่แท้แล้ว สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
ย่อมตายสำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ
ก็เมื่อสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ตายแล้ว
เราจะมามัวเศร้าโศก กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหล
แม้อาหารก็ไม่ย่อย
กายก็เศร้าหมอง
การงานก็หยุดชงัก
พวกอมิตรก็ดีใจ มิตรสหายก็เศร้าใจ” ดังนี้.
ปุถุชนนั้น เมื่อสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ตายแล้ว
ย่อมเศร้าโศก กระวนกระวาย ร่ำไรรำพัน
เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหล.
ภิกษุทั้งหลาย !  เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับนี้
ถูกลูกศรแห่งความโศก อันมีพิษเสียบแทงแล้ว
ทำตนเองให้เดือดร้อนอยู่.

(ในกรณีแห่งสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความวินาศไป เป็นธรรมดา ก็ได้ตรัสไว้ด้วยถ้อยคำอย่าง

เดียวกันกับในกรณีแห่งสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาข้างบนนี้ และพระองค์ยังได้ตรัสไว้ในลักษณะที่ตรงกัน

ข้ามจากข้อความนี้ สำหรับอริยสาวกผู้ได้สดับ)

    -บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๙/๔๘.
สิ่งที่ใครๆ ในโลกไม่ได้ตามปรารถนา

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น.
ข้าแต่พระสุคต ! บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น
ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด
ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า
ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่.

สุภูติ !  ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

(๑) สุภูติ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล
สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร
มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ...
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตตะมาก
ทรงสุตตะ สั่งสมสุตตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก
ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตตะมาก ...
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.


(๓) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี.
สุภูติ !  ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๔) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย
ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน ยอมรับฟังคำสั่งสอนโดยเคารพ.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทนยอมรับฟังคำสั่งสอนโดยเคารพ
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๕) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน
ในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย
ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
อันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำอาจจัดได้.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ...
อาจทำ อาจจัดได้
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๖) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก
เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง.
สุภูติ !  ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม
เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นที่รัก
มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๗) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร
เพื่อละอกุศลธรรมเพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม
เป็นผู้มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร ...
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๘) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌานทั้ง๔
อันมีในจิตอันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ซึ่งฌานทั้ง ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๙) อีกประการหนึ่ง ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างสามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง
ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง
สี่สิบชาติบ้างห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง
แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า
ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น
เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ
มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น
เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้
เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ
พร้อมทั้งอุทเทสด้วยอาการอย่างนี้.
สุภูติ !ข้อที่ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ...
เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ
พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยอาการอย่างนี้
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

(๑๐) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ
เมื่อตายไปจึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ
เมื่อตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยอาการอย่างนี้.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ...
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยอาการอย่างนี้
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.
   
(๑๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
สุภูติ ! ข้อที่ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.

-บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๖๖/๒๒๑.

ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา.