วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปัญญา สติ กับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! 
ข้าพระองค์กราบทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมนั้น คือ
ปัญญาและสติกับนามรูป แก่ข้าพระองค์เถิด; 
ปัญญาและสติกับนามรูปนั้น จะดับไปที่ไหน ?”.

อชิตะ !  ท่านถามปัญหานั้นข้อใด
เราจะแก้ปัญหา ข้อนั้นแก่ท่าน :
นามและรูป ย่อมดับไม่เหลือในที่ใด,
ปัญญาและสติกับนามรูปนั้น ก็ย่อมดับไปในที่นั้น,
เพราะความดับไปแห่งวิญญาณ แล.

-บาลี สุตฺต. ขุ. ๒๕/๕๓๐/๔๒๕. ,
-บาลี จูฬนิ.ขุ. ๓๐/๒๐/๘๐.,
-บาลี จูฬนิ. ขุ. ๓๐/๒๑/๘๕.

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สุคติของเทวดา

ภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย
เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ :-
(๑) ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง
(๒) ผ้าย่อมเศร้าหมอง
(๓) เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ 
(๔) ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย
(๕) เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน

ภิกษุทั้งหลาย !  เทวดาทั้งหลายทราบว่า
เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย
ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ! 
ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! 
อะไรหนอแล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลายพระเจ้าข้า !


ภิกษุทั้งหลาย ! 
ความเป็นมนุษย์ นี้แล
เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว
ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
นี้แลเป็น ส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
ศรัทธาของเทวดาใดนั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้
นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น
เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า :- 
“แน่ะท่านผู้เจริญ ! ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ
จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด
เมื่อท่านเป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรมศรัทธาของท่านนั้นพึงตั้งลงมั่น
มีรากหยั่งลงมั่นในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว
อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้
แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยทาน
แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์”
เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ
เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า
“แน่ะเทวดา ! ท่านจงมาบ่อยๆ”.

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑.

พุทธวจน ภพภูมิิ พุทธพจน์

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด

อานนท์ !  เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่
มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จักนอน
(ประทับสีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ,
ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น;
เพื่อบูชาตถาคตเจ้า).


อานนท์ !  การบูชาเหล่านี้
หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่.
อานนท์ !  ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง,
ปฏิบัติ ตามธรรมอยู่;
ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ
บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด.
อานนท์ !  เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า
“เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่”
ดังนี้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.

พุทธวจน ปฐมธรรม

พุทธวจน ปฐมธรรม

พุทธวจน ปฐมธรรม

ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้เขานับถือ

ภิกษุทั้งหลาย !  พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ
มิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ
มิใช่เพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ
มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป 
และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า 
เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้  ก็หามิได้.
ภิกษุทั้งหลาย !  ที่แท้  พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติเพื่อสำรวม 
เพื่อละ
เพื่อคลายกำหนัด 
เพื่อดับสนิทซึ่งทุกข์ แล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๓/๒๕.

ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้เขานับถือ

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คติ ๕ และอุปมา

สารีบุตร ! คติ ๕ ประการเหล่านี้ มีอยู่.
๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) นรก
(๒) กำเนิดเดรัจฉาน
(๓) เปรตวิสัย
(๔) มนุษย์
(๕) เทวดา

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก
ทางยังสัตว์ให้ถึงนรก
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนรก
อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน
ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดเดรัจฉาน
อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย
ทางยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย
อนึ่ง สัตว์ผู้ ปฏิบัติประการใด
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์
ทางยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก
อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด
เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย
ทางยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก
อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด
เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

สารีบุตร ! เราย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพาน
ทางยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน
และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน
อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด
ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้า ถึงแล้ว แลอยู่
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

อุปมาการเห็นคติ
สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง
ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง
ปราศจากเปลว ปราศจากควัน
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา
เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ
โดยมรรคาสายเดียว
บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.
สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ดวยใจ
ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
โดยสมัยต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมคูถ
ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อน
แผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ
โดยมรรคาสายเดียว
บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมคูถนี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด.
สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน
โดยสมัยต่อมาเราย่อมเห็นบุคคลนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เข้าถึงแล้ว ซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ
มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา
เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว
บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น
เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด
สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงเปรตวิสัย
โดยสมัยต่อมาเราย่อมเห็นบุคคลนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เข้าถึงแล้วซึ่งเปรตวิสัย
เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันเสมอ
มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาหนาทึบ
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา
เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ
โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว
พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น
เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด.
สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้
ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า
บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักบังเกิดในหมู่มนุษย์
โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
บังเกิดแล้วในหมู่มนุษย์
เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนปราสาท
ในปราสาทนั้นมีเรือนยอด ซึ่งฉาบทาแล้ว
ทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้
มีวงกรอบอันสนิท มีบานประตู และหน้าต่างอันปิดสนิทดี
ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว
ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว
ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ
มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด
มีเพดานกั้นในเบื้องบน
 มีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสอง
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา
เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่ปราสาทนั้นแหละ
โดยมรรคาสายเดียว
บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
จักมาถึงปราสาทนี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์ในเรือนยอด ณ ปราสาทนั้น
เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.
สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
ฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์ 
เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร !  เปรียบเหมือนสระโบกขรณี
มีน้ำอันเย็น ใสสะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์
และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น มีแนวป่าอันทึบ
ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา
เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย
มุ่งมาสู่สระโบกขรณีนั้นแหละ
โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว
พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงสระโบกขรณีนี้ทีเดียว”
โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น
พึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น
อาบและดื่ม ระงับความกระวนกระวาย
ความเหน็ดเหนื่อย และความร้อนหมดแล้ว
ขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้น
เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.
สารีบุตร !  เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
ฉันนั้นเหมือนกันว่า
บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น
และขึ้นสู่หนทางนั้น
จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุรุษนั้น
กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่
เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว.

มู. ม. ๑๒/๑๔๗-๑๕๓/๑๗๐-๑๗๖.
1. คติ : ทางไปของสัตว์. (ที่นำไปสู่ภพ)
2. อบาย ทุคติ วินิบาต นรก : ที่เกิดของสัตว์ตํ่ากว่ามนุษย์.

คติ ๕ และอุปมา

หมด “อาหาร” ก็นิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา 
ใน อาหารคือคำข้าว ก็ดี 
ใน อาหารคือผัสสะ ก็ดี 
ใน อาหารคือมโนสัญเจตนา ก็ดี 
ใน อาหารคือวิญญาณ ก็ดี
แล้วไซร้, 
วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในสิ่งนั้นๆ.
วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด,
การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น;
การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด,
ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น;
ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด,
การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;
การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด,
ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;
ชาติชราและมรณะต่อไป  ไม่มีในที่ใด, 
ภิกษุทั้งหลาย !  เราเรียก “ที่” นั้น
ว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด
ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้ก็ตาม
เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก. 
ครั้นดวงอาทิตย์ขึ้นมา แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่างแล้ว
จักตั้งอยู่ที่ส่วนไหนแห่งเรือนนั้นเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์
จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างในด้านทิศตะวันตก พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า
แสงแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ที่ไหน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า !”.
ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏในน้ำพระเจ้าข้า !”.
ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น
ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย !  ฉันใดก็ฉันนั้นแล :  ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา
ในอาหารคือคำข้าว ก็ดี
ในอาหารคือผัสสะ ก็ดี
ในอาหารคือมโนสัญเจตนา ก็ดี
ในอาหารคือวิญญาณ ก็ดี แล้วไซร้,
วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้
ในอาหารคือคำข้าว เป็นต้นนั้นๆ.
วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด,
การก้าวลงแห่งนามรูป  ย่อมไม่มีในที่นั้น;
การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด,
ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย  ย่อมไม่มีในที่นั้น;
ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย  ไม่มีในที่ใด,
การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป  ย่อมไม่มีในที่นั้น;
การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด,
ชาติชราและมรณะต่อไป  ย่อมไม่มีในที่นั้น;
ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด,
ภิกษุทั้งหลาย !  เราเรียก “ที่” นั้น 
ว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น” ดังนี้.

 -บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๔/๒๔๘.

อาหาร๔ คำข้าว ผัสสะ มโนสัญเจตนา วิญญาณ

ทรงตรัสว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งกระทำ”

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้
เมื่อเป็นเช่นนั้นเธอพึงทำความสำเหนียกว่า
“เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน”
ดังนี้เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบแต่งตัว
ส่องดูเงาหน้าของตนที่แว่นส่องหน้าหรือที่ภาชนะน้ำอันบริสุทธิ์หมดจดใสสะอาด
ถ้าเห็นธุลีหรือต่อมที่หน้า ก็พยายามนำธุลีหรือต่อมนั้นออกเสีย
ถ้าไม่เห็นธุลีหรือต่อม ก็ยินดีพอใจว่า
เป็นลาภหนอ บริสุทธิ์ดีแล้วหนอ ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย !  การพิจารณาของภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
คือ จะมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายในเมื่อเธอพิจารณาว่า

“เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีอภิชฌา หรือไม่มีอภิชฌา
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตพยาบาท หรือไม่มีจิตพยาบาท
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่ หรือปราศจากถีนมิทธะ
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีความฟุ้งซ่าน หรือไม่ฟุ้งซ่าน
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีวิจิกิจฉา หรือหมดวิจิกิจฉา
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยเป็นผู้มักโกรธ หรือไม่มักโกรธ
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตเศร้าหมอง หรือไม่มีจิตเศร้าหมอง
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีกายอันเครียดครัดในการปฏิบัติธรรม หรือมีกายไม่เครียดครัด
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยเป็นผู้เกียจคร้าน หรือเป็นผู้ปรารภความเพียร
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตตั้งมั่น หรือไม่มีจิตตั้งมั่น” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า
“เราอยู่โดยมาก โดยความเป็นผู้มากด้วยอภิชฌา
มีจิตพยาบาทถีนมิทธะกลุ้มรุม ฟุ้งซ่าน มีวิจิกิจฉา
มักโกรธ มีจิตเศร้าหมองมีกายเครียดครัด เกียจคร้าน มีจิตไม่ตั้งมั่น”
ดังนี้แล้ว
ภิกษุนั้น พึงกระทำซึ่ง ฉันทะ (ความพอใจ)
วายามะ (ความพยายาม)
อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ความขะมักเขม้น)
อัปปฏิวานี (ความไม่ถอยหลัง)
สติและสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า
เพื่อละเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
เช่นเดียวกับ บุคคลผู้มีเสื้อผ้าหรือศีรษะอันไฟลุกโพลงแล้ว
จะพึงกระทำฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี
สติและสัมปชัญญะอันแรงกล้า
เพื่อจะดับไฟที่เสื้อผ้าหรือที่ศีรษะนั้นเสีย,
ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า
“เราอยู่โดยมาก โดยความเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา
ไม่มีจิตพยาบาทไม่มีถีนมิทธะกลุ้มรุม ไม่ฟุ้งซ่าน หมดวิจิกิจฉา
ไม่มักโกรธมีจิตไม่เศร้าหมอง มีกายไม่เครียดครัดปรารภความเพียร มีจิตตั้งมั่น”
ดังนี้แล้ว
ภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแหละ
แล้วประกอบโยคกรรม
เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป.

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๙๗/๕๑.

เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน

พุทธวจน อินทรียสังวร

พุทธวจน อินทรีสังวร