วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ผู้มีอุปการะมาก

ถูกแล้วๆ อานนท์ ! จริงอยู่
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
จากอทินนาทาน
จากกาเมสุมิจฉาจาร
จากมุสาวาท
จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย

เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์
ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยะเจ้า

เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์
ในทุกขสมุทัย
ในทุกขนิโรธ
ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี

แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-ปัจจัยเภสัชชบริขาร

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๗/๗๐๙.

พุทธวจน ภพภูมิ

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ธรรม ๗ ประการของผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการนี้
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นอย่างไร คือ :-

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! 
ภิกษุมีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ 
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน 
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน 
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๓) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม
ได้แล้วโดยธรรม
ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร
ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน
ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไป
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล

ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๕) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท อันผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ
และถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันในศีลเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๖) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก (นิยฺยานิก)
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
และถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันในทิฏฐิเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการเหล่านี้แล
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้

ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันไว้.

ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนยอดเป็นที่สูงสุด
เป็นที่ยึดคุมของเรือนยอด ฉันใด
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้
ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ก็ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เป็นอย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่างก็ตาม
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว (ปริยุฏฺฐาเนน ปริยุฏฺฐิตจิตฺโต)
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มีอยู่หรือไม่หนอ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะครอบงำ
หรือมีจิตอันพยาบาทครอบงำ
หรือมีจิตอันถีนมิทธะครอบงำ
หรือมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ
หรือมีจิตอันวิจิกิจฉาครอบงำ
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
หรือเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกอื่น
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุุเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน
มิได้มีเลย จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว
เพื่อความตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
นี้คือ ญาณที่ ๑ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตนหรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตน
นี้คือญาณที่ ๒ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี
นี้คือญาณที่ ๓ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
ความออกจากอาบัติเช่นใด ย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
อริยสาวกนั้นจะรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น
ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนหงาย
ถูกถ่านไฟด้วยมือ หรือด้วยเท้าเข้าแล้ว
ก็จะชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๔ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
   

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
อริยสาวกย่อมถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำ
ของเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นก็ยังมีอยู่
เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน
ย่อมเล็มหญ้ากินไปด้วย ชำเลืองดูลูกไปด้วยฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๕ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
 ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมทำให้เกิดประโยชน์
ย่อมทำไว้ในใจ
ย่อมกำหนดด้วยจิตทั้งปวง
ย่อมเงี่ยโสตลงฟังธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๖ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๗ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว
ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๕๘๑/๕๔๒.


พุทธวจน คู่มือโสดาบัน
 

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สิ้นความอยาก ก็สิ้นทุกข์

นิสฺสิตสฺส จลิตํ
ความหวั่นไหว ย่อมมี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยแล้ว
อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ;
ความหวั่นไหว ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ;
เมื่อความหวั่นไหว ไม่มี, ปัสสัทธิ ย่อมมี
ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ;
เมื่อปัสสัทธิ มี, ความน้อมไป ย่อมไม่มี
นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ;
เมื่อความน้อมไป ไม่มี, การไปและการมา ย่อมไม่มี
อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ;
เมื่อการไปการมา ไม่มี, การเคลื่อนและการบังเกิด ย่อมไม่มี
จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร:
เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้
ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง

เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.
 
-บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๒๐๘/๑๖๑.

พุทธวจน อินทรียสังวร
 

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อินทรียสังวร ปิดกั้นการเกิดขึ้นแห่งบาปอกุศล

ภิกษุทั้งหลาย !  เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน
เต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินแต่ไกล,
ครั้นแล้ว จึงหดอวัยวะทั้งหลาย
มีศีรษะเป็นที่ห้าเข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน,
ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า
“เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก
ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า
แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้นคร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา
สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง;
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น;
มารผู้ใจบาปก็คอยช่อง
ต่อพวกเธอทั้งหลายติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู
หรือทางจมูกหรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ”, ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย
จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด;
ได้เห็นรูปด้วยตา,
ได้ฟังเสียงด้วยหู,
ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก,
ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น,
ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย,
หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด,
อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย,
สิ่งที่เป็นบาปอกุศลคือ
อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ.
พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้,
พวกเธอทั้งหลายจงรักษา
และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.

ภิกษุทั้งหลาย !  ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย
จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่;
ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป
จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย
และจักต้องหลีกไปเอง,
เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด,
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้น.
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้,
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น,
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด,
เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๒/๓๒๐.

พุทธวจน อินทรียสังวร

นิวรณ์–ข้าศึกแห่งสมาธิ

วาเสฏฐะ !  เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนี้ มีน้ำเต็มเปี่ยม กายืนดื่มได้.
ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งมาถึงเข้า
เขามีประโยชน์ที่ฝั่งโน้น
แสวงหาฝั่งโน้น
มีการไปสู่ฝั่งโน้น
ประสงค์จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น
แต่เขานอนคลุมศีรษะของตนอยู่ที่ริมฝั่งนี้.
วาเสฏฐะ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร :
บุรุษนั้นจะไปจากฝั่งใน สู่ฝั่งนอกแห่งแม่น้ำอจิรวดีได้หรือหนอ ?
“ไม่ได้แน่ ท่านพระโคดม !”

วาเสฏฐะ !  ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
นิวรณ์ ๕ อย่าง เหล่านี้
เรียกกันในอริยวินัย
ว่า “เครื่องปิด” บ้าง 
ว่า “เครื่องกั้น” บ้าง 
ว่า “เครื่องคลุม” บ้าง
ว่า “เครื่องร้อยรัด” บ้าง.

๕ อย่าง อย่างไรเล่า ?
๕ อย่าง คือ
กามฉันทนิวรณ์
พ๎ยาปาทนิวรณ์
ถีนมิทธนิวรณ์
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์
วิจิกิจฉานิวรณ์.

วาเสฏฐะ !  นิวรณ์ ๕ อย่าง เหล่านี้แล
ซึ่งเรียกกันในอริยวินัย
ว่า “เครื่องปิด” บ้าง 
ว่า “เครื่องกั้น” บ้าง
ว่า “เครื่องคลุม” บ้าง 
ว่า “เครื่องร้อยรัด” บ้าง.

วาเสฏฐะ !  พราหมณ์ไตรเพททั้งหลาย
ถูกนิวรณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ ปิดแล้ว กั้นแล้ว คลุมแล้ว ร้อยรัดแล้ว.
วาเสฏฐะ !  พราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น
ละธรรมะที่ทำความเป็นพราหมณ์เสีย
สมาทานธรรมะที่ไม่ทำความเป็นพราหมณ์
ดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่
อันนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่าง ปิดแล้ว กั้นแล้ว คลุมแล้ว ร้อยรัดแล้ว
จักเป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม
ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ดังนี้นั้น :
นั่นไม่เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้.

-บาลี สี. ที. ๙/๓๐๖/๓๗๘.

พุทธวจน อานาปานสติ

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทุกข์เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย

อานนท์ !  คราวหนึ่งเราอยู่ที่ป่าไผ่ เป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแตใกล้กรุงราชคฤห์นี่แหละ,
ครั้งนั้น เวลาเช้าเราครองจีวรถือบาตร เพื่อไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
คิดขึ้นมาว่า ยังเช้าเกินไปสำหรับการบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
ถ้าไฉน เราเข้าไปสู่อารามของปริพาชก ผู้เป็นเดียรถีย์เหล่าอื่นเถิด.
เราได้เข้าไปสู่อารามของปริพาชก ผู้เป็นเดียรถีย์เหล่าอื่น
กระทำสัมโมทนียกถาแก่กันและกัน นั่งลง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
อานนท์ !  ปริพาชกเหล่านั้น ได้กล่าวกะเราผู้นั่งแล้ว อย่างนี้ว่า
“ท่านโคตมะ !   มีสมณพราหมณ์บางพวก
ที่กล่าวสอนเรื่องกรรม ย่อมบัญญัติความทุกข์ว่า เป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเอง,
มีสมณพราหมณ์อีกบางพวก
ที่กล่าวสอนเรื่องกรรม ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำให้,
มีสมณพราหมณ์อีกบางพวก
ที่กล่าวสอนเรื่องกรรม ย่อมบัญญัติความทุกข์ว่า ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้ ก็เกิดขึ้นได้. 
ในเรื่องนี้ ท่านโคตมะของพวกเรา
กล่าวสอนอยู่อย่างไร ? 
และพวกเรากล่าวอยู่อย่างไร ? 
จึงจะเป็นอันกล่าวตามคำที่ท่านโคตมะกล่าวแล้ว,
ไม่เป็นการกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง
แต่เป็นการกล่าวโดยถูกต้อง
และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม
จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติเตียนไปด้วย ?”
ดังนี้.

อานนท์ !  เราได้กล่าวกะปริพาชกทั้งหลายเหล่านั้นว่า
ปริพาชกทั้งหลาย !   เรากล่าวว่า ทุกข์ อาศัยเหตุปัจจัย (ของมันเองเป็นลำดับๆ) เกิดขึ้น.
มันอาศัยเหตุปัจจัยอะไรเล่า ?
อาศัยปัจจัยคือ ผัสสะ.
ผู้กล่าวอย่างนี้แล  ชื่อว่ากล่าวตรงตามที่เรากล่าว.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๔๑/๗๖.

พุทธวจน แก้กรรม

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การรู้สึกพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เมื่อเราเป็นผู้มี
ความเกิด ความแก่
ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา
มีความโศกเป็นธรรมดา
มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ด้วยตน,
ก็รู้จักโทษแห่งสิ่งที่มี
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศก เศร้าหมองเป็นธรรมดา.
ครั้นรู้แล้ว จึงได้แสวงหานิพพาน
อันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไม่โศก ไม่เศร้าหมองเป็นธรรมดา
อันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่า
อันเกษมจากโยคธรรม,
เราก็ได้บรรลุพระนิพพานนั้น.
อนึ่งปัญญาเครื่องรู้เครื่องเห็นได้เกิดแก่เราว่า
“ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ
การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ภพเป็นที่เกิดใหม่มิได้มีอีก
” ดังนี้.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๓๒๓/๓๒๐.

พุทธวจน ตถาคต

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความไม่แน่นอนของการได้อัตภาพ

ภิกษุทั้งหลาย ! 
สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ
ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! 
เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ
บางคราวตกเอาโคนลง
บางคราวตกเอาตอนกลางลง
บางคราวตกเอาปลายลง ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! 
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ท่องเที่ยวไปมาอยู่
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น
บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

เพราะเหตุว่า
สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ
ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! 
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด
พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๒๑๙/๔๓๘.

พุทธวจน ภพภูมิ

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทาง ๒ สายที่ไม่ควรเดิน

ภิกษุทั้งหลาย ! 
มีสิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่ง (อนฺตา) อยู่ ๒ อย่าง
ที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะด้วย.
สิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งนั้นคืออะไร ? คือ

การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย
(กามสุขัลลิกานุโยค)
อันเป็นการกระทำที่ยังต่ำ
เป็นของชาวบ้าน
เป็นของชั้นบุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์,

และการประกอบความเพียรในการทรมานตนให้ลำบาก
(อัตตกิลมถานุโยค)

อันนำมาซึ่งความทุกข์
ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์,
สองอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ! 
ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง 
(มัชฌิมาปฏิปทา)
ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น
เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว
เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ
เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ
เป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้อันยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้พร้อม
เพื่อนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย !  ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง
ที่ไม่ดิ่งไปหาที่สุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? 

ภิกษุทั้งหลาย ! 
ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้นคือ
ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ
ประกอบอยู่ด้วยองค์แปดประการ
นี่เอง.
แปดประการ คืออะไรเล่า ?  คือ :-
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.


-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๘/๑๖๖๔.

พุทธวจน แก้กรรม

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เป็นทุกข์เพราะติดอยู่ในอายตนะ

ภิกษุทั้งหลาย !  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ยินดีแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
บันเทิงด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์.
ภิกษุทั้งหลาย !  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ย่อมอยู่เป็นทุกข์
เพราะความเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย
และความดับไปของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๑/๒๑๘.
พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ
 

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วาจาที่ไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.
องค์ ๕ ประการ อย่างไรเล่า ?
๕ ประการ คือ :-
กล่าวแล้วควรแก่เวลา (กาเลน ภาสิตา โหติ).
กล่าวแล้วตามสัจจ์จริง (สจฺจ ภาสิตา โหติ).
กล่าวแล้วอย่างอ่อนหวาน (สณฺหา ภาสิตา โหติ).
กล่าวแล้วอย่างประกอบด้วยประโยชน์ (อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา โหติ).
กล่าวแล้วด้วยเมตตาจิต (เมตตฺตจตฺเตน ภาสิตา โหติ).
ภิกษุทั้งหลาย !
วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเหล่านี้แล
เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๗๑/๑๙๘.




พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ


อนึ่ง คนเราเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับ
คนที่สะอาดหรือคนที่ไม่สะอาดก็ตาม
ต้องมีสติกํากับอยู่ด้วยเสมอ,
แต่นั้นพึงสามัคคีต่อกัน
มีปัญญาทําที่สุดทุกข์แห่งตน เถิด.
-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๗๐/๑๐๐.

ความพอใจ เป็นเหตุแห่งทุกข์

“ทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ทุกข์ทั้งหมดนั้น
มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์
ทุกข์ใดๆ อันจะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกข์ทั้งหมดนั้น
ก็มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์
และทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้น
ก็มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์”.

(ในเนื้อความพระสูตร ทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุของทุกข์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ฉันทะ เป็นความรู้ที่เห็นกันได้ แล้วจึงได้สรุปให้เห็นไปถึงนัยยะโดยอดีตกับอนาคต)

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๔๐๓/๖๒๗.

พุทธวจน อินทรียสังวร


นิพพานที่เห็นได้เอง

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! 
คำที่พระโคดมกล่าวว่า
นิพพานที่เห็นได้เอง (สนฺทิฏฺฐิก นิพฺพาน) นิพพานที่เห็นได้เอง’ ดังนี้.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! 
นิพพานที่เห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นสิ่งที่กล่าวกับผู้อื่นว่า
ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ได้เฉพาะตนนั้น
มีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !


พราหมณ์ ! 
บุคคลผู้กำหนัดแล้ว
อันราคะครอบงำแล้ว
มีจิตอันราคะรึงรัดแล้ว
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไปทางจิตบ้าง
เมื่อละราคะได้แล้ว
เขาย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเอง
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองอย่าง
และย่อมไม่เสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไปทางจิตโดยแท้.
พราหมณ์ ! 
นิพพานที่เห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า
“ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”

ย่อมมีได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

พราหมณ์ ! 
บุคคลผู้เกิดโทสะแล้ว
อันโทสะครอบงำแล้ว
มีจิตอันโทสะรึงรัดแล้ว
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไปทางจิตบ้าง
เมื่อละโทสะได้แล้ว
เขาย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเอง
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองอย่าง
และย่อมไม่เสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไป

ทางจิตโดยแท้.
พราหมณ์ ! 
นิพพานที่เห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า
“ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”

ย่อมมีได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

พราหมณ์ ! 
บุคคลผู้มีโมหะแล้ว
อันโมหะครอบงำแล้ว
มีจิตอันโมหะรึงรัดแล้ว
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไปทางจิตบ้าง
เมื่อละโมหะได้แล้ว
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเอง
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ย่อมไม่คิดแม้เพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองอย่าง
และย่อมไม่เสวยเฉพาะซึ่งทุกขโทมนัสอันเป็นไปในทางจิตโดยแท้.
พราหมณ์ ! 
นิพพานที่เห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า
“ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”

ย่อมมีได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

พราหมณ์ !  
เมื่อใดแล ผู้นี้
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งความสิ้นไปแห่งราคะ อันหาเศษเหลือมิได้
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งความสิ้นไปแห่งโทสะ อันหาเศษเหลือมิได้
ย่อมเสวยเฉพาะซึ่งความสิ้นไปแห่งโมหะ อันหาเศษเหลือมิได้
พราหมณ์เอย ! 
เมื่อนั้น นิพพานที่เห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า
“ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”

ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๐๒/๔๙๕.

พุทธวจน ภพภูมิ

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อานาปานสติ เป็นเหตุให้ถึงซึ่งนิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมอย่างหนึ่ง
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไป
เพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อความดับ
เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้ 
เพื่อนิพพาน.

ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร ?
คือ... อานาปานสติ ...
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อความดับ
เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้ 
เพื่อนิพพาน.

-บาลี  เอก. อํ. ๒๐/๓๙/๑๗๙.

พุทธวจน อานาปานสติ



กรณีของคฤหัสถ์ หากเห็นโทษโดยความเป็นโทษ ให้ทำคืนตามธรรม

(กรณีตัวอย่างของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ทำการฆ่าบิดาของตนเอง)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด
หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม
เป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิด
เพื่อสำรวมระวังต่อไปด้วยเถิด.

มหาราช !  จริงทีเดียว
ความผิดได้ครอบงำพระองค์ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง คนไม่ฉลาด
พระองค์ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม
เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่
แต่เพราะพระองค์ทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิด
แล้วทรงสารภาพตามเป็นจริง ฉะนั้น
เราขอรับทราบความผิดของพระองค์ไว้
ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษ
แล้วทำคืนตามธรรม
ถึงความสำรวมระวังต่อไป
นี้เป็นความเจริญในอริยวินัยของผู้นั้น.

-บาลี มหา. ที. ๙/๑๑๒/๑๓๙.

พุทธวจน เดรัจฉานวิชา

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เหตุที่ทำให้ได้พระนามว่า“อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”

ภิกษุทั้งหลาย !
ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่างเหล่านี้ มีอยู่,
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ
ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์ ;
ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์ ;
ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ;
ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำาเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ :
นี้แล ความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง
ซึ่งความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่างเหล่านี้แล
ตถาคตจึงมีนามว่า
“อรหันตสัมมาสัมพุทธะ” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้
พวกเธอทั้งหลาย พึงกระทำาความเพียรเพื่อให้รู้ว่า
“นี้ทุกข์ ; นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ;
นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ;
นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”
ดังนี้แล.
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๓/๑๗๐๓.

พุทธวจน ตถาคต

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ถุงธรรม

ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ 
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ, 
แต่เธอไม่ใช้วันทั้งวันให้เปลืองไปด้วยการเรียนธรรมนั้นๆ
ไม่เริดร้างจากการหลีกเร้น,
ตามประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจในภายในเนืองๆ. 
ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม) .

ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุผู้มากด้วยปริยัติ เราก็แสดงแล้ว,
ผู้มากด้วยการบัญญัติ เราก็แสดงแล้ว,
ผู้มากด้วยการสาธยาย เราก็แสดงแล้ว,
ผู้มากด้วยการคิด เราก็แสดงแล้ว, 
และธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม) เราก็แสดงแล้ว
ด้วยประการ ฉะนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !  กิจอันใดที่ศาสดาผู้เอ็นดู
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแล้ว
จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย, 
กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.
  
ภิกษุทั้งหลาย ! นั่น โคนไม้ทั้งหลาย นั่น เรือนว่างทั้งหลาย,
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส,
อย่าได้เป็นผู้ประมาท,
เธอทั้งหลาย อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย,
นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๙๘/๗๓.

พุทธวจน ตามรอยธรรม

พุทธวจน ตามรอยธรรม

ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น

ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่หรือไม่หนอ ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว อวิชชาย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้นพระเจ้าข้า ?”.
ภิกษุ !  ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่แล ...ฯลฯ...
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ธรรมอย่างหนึ่ง นั้นคืออะไรเล่าหนอ ...ฯลฯ...?”
ภิกษุ !  อวิชชานั่นแล  เป็นธรรมอย่างหนึ่ง
ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว
อวิชชาย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้น.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร
อวิชชาจึงจะละไป วิชชาจึงจะเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ?”.


ภิกษุ !  หลักธรรมอันภิกษุในกรณีนี้ได้สดับแล้ว ย่อมมีอยู่ว่า
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น (ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา)
(สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย)” ดังนี้.
ภิกษุ !  ถ้าภิกษุได้สดับหลักธรรมข้อนั้นอย่างนี้ว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง
อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่
น ดังนี้แล้ว ไซร้,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง;
ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว, 
ย่อมรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง;
ครั้นรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว,
ภิกษุนั้น ย่อมเห็นซึ่ง นิมิตทั้งหลายของสิ่งทั้งปวง
โดยประการอื่น : 
ย่อมเห็นซึ่ง จักษุ โดยประการอื่น; 
ย่อมเห็นซึ่ง รูปทั้งหลาย โดยประการอื่น;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ โดยประการอื่น;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส โดยประการอื่น;
ย่อมเห็นซึ่งเวทนาอันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยประการอื่น.

    (ในกรณีแห่งโสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายะก็ดี มโนก็ดี และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตต์

ด้วยโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมโน นั้นๆ ก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มีนัย อย่างเดียวกันกับใน

กรณีแห่งการเห็นจักษุ และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตต์ด้วยจักษุ).

ภิกษุ !  เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล
อวิชชาจึงจะละไป วิชชาจึงจะเกิดขึ้น.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๖๒/๙๖.

พุทธวจน มรรควิธีที่ง่าย

พุทธวจน มรรควิธีที่ง่าย

ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย !
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ
ในเวลาเช้า

เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ
ในเวลาเที่ยง

เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ
ในเวลาเย็น
เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี
มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี
และบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย.

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๗๘/๕๙๕.

พุทธวจน เดรัจฉานวิชา


พุทธวจน เดรัจฉานวิชา

พุทธวจน เดรัจฉานวิชา

พุทธวจน เดรัจฉานวิชา

พุทธวจน เดรัจฉานวิชา
พุทธวจน เดรัจฉานวิชา

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การพยากรณ์บุคคลอื่น ทำได้หรือไม่

ตรัสกับพระอานนท์ปรารภเหตุนางมิคสาลากล่าวแย้งพระพุทธเจ้าเรื่องการพยากรณ์ความเป็นอริยบุคคลระหว่างบิดาของตนเองผู้ประพฤติพรหมจรรย์และเพื่อนของบิดาผู้ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์แต่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ทั้ง ๒ บุคคลว่าเป็นสกทาคามีได้กายดุสิตเหมือนกัน.

อานนท์ !  ... เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคล
ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต.

อานนท์ !     เพราะเหตุนั้นแหละ
เธอทั้งหลาย อย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล
และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล

เพราะผู้ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษของตน
เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้.

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๐/๗๕.

พุทธวจน แก้กรรม เดรัจฉานวิชา

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา)

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !
การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา) นั้น
มีได้ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ?
บุคคลจะตามรักษาไว้ซึ่งความจริงนั้นได้ 
ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ?
ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงวิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง”.


ภารท๎วาชะ !
แม้ ความเชื่อ ของบุรุษ มีอยู่
และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง
กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ดังนี้,
เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า
“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

ภารท๎วาชะ !
ถ้าแม้ ความชอบใจ ของบุรุษ มีอยู่
และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า
“ข้าพเจ้ามีความชอบใจอย่างนี้” ดังนี้,
เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า
“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

ภารท๎วาชะ !
ถ้าแม้ เรื่องที่ฟังตามๆ กันมา ของบุรุษ มีอยู่
และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง
กล่าวอยู่ว่า
“ข้าพเจ้ามีเรื่องที่ฟังตามๆ กันมาอย่างนี้” ดังนี้,
เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า
“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

ภารท๎วาชะ !
ถ้าแม้ ความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อม ของบุรุษมีอยู่
และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง
กล่าวอยู่ว่า
“ข้าพเจ้ามีความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อมอย่างนี้” ดังนี้,
เขาก็ อย่าพึงถึงการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า
“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

ภารท๎วาชะ !
ถ้าแม้ ข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็น ของบุรุษ มีอยู่
และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า
“ข้าพเจ้ามีข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นอย่างนี้” ดังนี้,
เขาก็ อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า
“อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน.

ภารท๎วาชะ !
ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล
การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี,
บุคคลชื่อว่า ย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้,
และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้;
แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง.

-บาลี ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๕/๖๕๕.

พุทธวจน ปฐมธรรม