วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร

ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ธรรมเหล่านั้น พวกเธอพึงเรียนเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่ว  พึงเจริญทำให้มาก 
โดยอาการที่พรหมจรรย์   (คือศาสนานี้) จักมั่นคง ตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน, 
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน,
เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล 
เพื่อความสุขแก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ, 
คือ :- สติปัฏฐานสี่ สัมมัปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า 
โพชฌงค์เจ็ด   อริยมรรคมีองค์แปด.


ภิกษุทั้งหลาย !  บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้งหลายว่า : 
สังขารทั้งหลาย  มีความเสื่อมเป็นธรรมดา  พวกเธอจงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด,
การปรินิพพานของตถาคต จักมีในกาลไม่นานเลย
ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนนี้.

สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่มและคนแก่,
ทั้งที่เป็นคนพาล และบัณฑิต,
ทั้งที่มั่งมีและยากจน
ล้วนแต่มีความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า,
เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่, 
ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ
ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด  ฉันใด;
ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย  ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า  ฉันนั้น.   
วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว
เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว. 
ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
มีสติ  มีศีลเป็นอย่างดี
มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี 
ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด.
ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว 
จักละชาติสงสาร  ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๐/๑๐๗-๑๐๘.

พุทธวจน ตามรอยธรรม

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอได้เห็นท่อนไม้ใหญ่นั้น 
ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคา  หรือไม่ ?
“ได้เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูล.

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าท่อนไม้นั้น
จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งในหรือฝั่งนอก,
ไม่จมเสียในท่ามกลางน้ำ,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้
จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล

เพราะเหตุว่า
ลำแม่น้ำคงคา โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่ทะเล.  ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย !  แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น :
ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน,
ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก, 
ไม่จมเสียในท่ามกลาง,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน

เพราะเหตุว่า
สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดาที่โน้มน้อม  ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
อะไรเล่าเป็นฝั่งในหรือฝั่งนอก ?
อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง ?
อะไรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก ?
อะไรชื่อว่าถูกมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ?
อะไรชื่อว่าเน่าเสียเองในภายใน ?”

ภิกษุทั้งหลาย ! 
คำว่า “ฝั่งใน” เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖.  
คำว่า “ฝั่งนอก” เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖. 
คำว่า “จมเสียในท่ามกลาง” เป็นชื่อของ นันทิราคะ
(ความกำหนัดด้วยความเพลิน).
คำว่า “ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” เป็นชื่อของ อัส๎มิมานะ
(ความสำคัญว่า เรามี เราเป็น).
คำว่า “ถูกมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์
เพลิดเพลินด้วยกัน,
โศกเศร้าด้วยกัน,
มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข,
เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, 

ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้.   
คำว่า “ถูกอมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์
โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง
 
ว่า “ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า  ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้
คำว่า “ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้” เป็นชื่อของ กามคุณ ๕.
“ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน” คืออย่างไรเล่า ? 
คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล
มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด
มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว
ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น
ไม่ใช่สมณะ ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ 

เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. 
ภิกษุนี้  เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓/๓๒๒. 

พุทธวจน ตามรอยธรรม