วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กัลยาณมิตรของพระองค์เอง

อานนท์ !  ภิกษุผู้ชื่อว่า มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ
ทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด  โดยอาการอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุนี้ ย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่ง  สัมมาทิฏฐิ,  สัมมาสังกัปปะ,  สัมมาวาจา,  สัมมากัมมันตะ,  สัมมาอาชีวะ,  สัมมาวายามะ,  สัมมาสติ,  สัมมาสมาธิ 
อันอาศัยวิเวก  อาศัยวิราคะ  อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อการสลัดลง.  
อานนท์ !  อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ
ทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด.
อานนท์ !  ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิดว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั้นเทียว
ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี  ดังนี้.
อานนท์ !  จริงทีเดียว,
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา
ได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากการเกิด... ผู้มีความแก่ชรา, ความเจ็บป่วย,
ความตาย, ความโศก, ความคร่ำครวญ, ความทุกข์กาย,
ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา... ครั้นได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ชรา,
ความเจ็บป่วย, ความตาย, ความโศก, ความคร่ำครวญ, ความทุกข์กาย, ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ.
อานนท์ !  ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิด
คือว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั้นเทียว
ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี  ดังนี้.

-บาลี สคา. สํ. ๑๕/๑๒๗/๓๘๓

การสนทนากับพระอานนท์ เรื่องกัลยาณมิตร

มหาราชะ !  ครั้งหนึ่ง  ตถาคตพักอยู่ที่นิคมแห่งพวกศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ. 
มหาราชะ !  ครั้งนั้นแล ภิกษุอานนท์ได้เข้าไปหาตถาคตถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่ควร. 
มหาราชะ !  ภิกษุอานนท์ได้กล่าวคำนี้กะตถาคตว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ความมีมิตรดี  ความมีสหายดี  ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี
นี้เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์พระเจ้าข้า !”
ดังนี้.
มหาราชะ !  เมื่อภิกษุอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว  ตถาคตได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า
“อานนท์ !  เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย,
อานนท์ !  ข้อนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว คือความมีมิตรดี  ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี.
อานนท์ !  พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น  เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังได้. 
เมื่อเป็นผู้มีมิตรดี  มีสหายดี  มีเพื่อนผู้แวดล้อมดี
เธอนั้นจักทำอริยมรรคมีองค์แปดให้เจริญได้ 
จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดได้
ดังนี้.

-บาลี สคา. สํ. ๑๕/๑๒๗/๓๘๒.