วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565

กรรมเปรียบด้วยก้อนเกลือ

 ภิกษุทั้งหลาย ! ใครพึงกล่าวว่า 

คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวย กรรมนั้นอย่างนั้นๆ  ดังนี้ 

เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ 

ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ.

ส่วนใครกล่าวว่า 

คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวย ผลของกรรมนั้น อย่างนั้นๆ ดังนี้ 

เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ 

ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยที่บุคคลบางคนทำแล้ว 

บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ 

บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว 

กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม(ให้ผลในปัจจุบัน) 

ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.


บาปกรรม แม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้ว บาปกรรมนั้นจึงนำเขาไปนรกได้ ?

บุคคลบางคน ในโลกนี้เป็นผู้

  • มีกายมิได้อบรม 
  • มีศีลมิได้อบรม 
  • มีจิตมิได้อบรม 
  • มีปัญญามิได้อบรม 
  • มีคุณความดีน้อย 
  • เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบใจหยาบ) 
  • เป็นอัปปทุกขวิหารี(มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย) 

บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว

บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้.

บาปกรรม ประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไร ทำแล้ว 

กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ 

  • เป็นผู้มีกาย 
  • มีศีล 
  • มีจิต 
  • มีปัญญาได้อบรมแล้ว 
  • มีคุณความดีมาก 
  • เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง) 
  • เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันหาประมาณมิได้) 

บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบุคคลชนิดนี้ทำแล้ว

กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน 

ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม 

ไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ?

“เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.

เพราะเหตุอะไร ? “เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้...เพราะเกลือก้อนนั้น”.

ต่างว่าคนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้น จะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ?

“หามิได้ พระเจ้าข้า !”.

เพราะเหตุอะไร ? “เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น”.


ฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย !

 บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้น ย่อมนำเขาไปนรกได้ 

ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว 

กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

ภิกษุทั้งหลาย ! คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ ๑ กหาปณะ... แม้ ๑๐๐ กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น.

คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ.

คนอย่างไร ไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ? คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก คนอย่างนี้ ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ฉันนั้นนั่นแหละ.

ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๒๐/๕๔๐.





วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เครื่องจองจำที่มั่นคง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว
บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก
บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา
บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ไม่กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก
ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก)
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ย่อมกล่าวความรักใคร่พอใจ
ในตุ้มหู แก้วมณี
และความห่วงอาลัยในบุตรและภรรยา
นั่นแหละว่า เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ฉุดให้สัตว์ลงต่ำ
ซึ่งเป็นเครื่องจองจำที่ผูกไว้หย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช
เป็นผู้ไม่มีความห่วงอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว

.-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๑๑๑/๓๕๒.


วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โลก คือ สิ่งที่แตกสลายได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่กล่าวกันว่า โลก โลก ดังนี้
อันว่าโลกมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.


ภิกษุ เพราะจะต้องแตกสลาย เราจึงกล่าวว่าโลก
ก็อะไรเล่าจะต้องแตกสลาย.

ภิกษุ ตาแตกสลาย
รูปแตกสลาย
จักษุวิญญาณแตกสลาย
จักษุสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ด็  ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ หูแตกสลาย
เสียงแตกสลาย
โสตวิญญาณแตกสลาย
โสตสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ จมูกแตกสลาย
กลิ่นแตกสลาย
ฆานวิญญาณแตกสลาย
ฆานสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ ลิ้นแตกสลาย
รสแตกสลาย
ชิวหาวิญญาณแตกสลาย
ชิวหาสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็แตกสลาย.

ภิกษุ กายแตกสลาย
โผฎฐัพพะแตกสลาย
กายวิญญาณแตกสลาย
กายสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดีทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ ใจแตกสลาย
ธรรมแตกสลาย
มโนวิญญาณแตกสลาย
มโนสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ เพราะจะต้องแตกสลาย เราจึงกล่าวว่า โลก
ดังนี้.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๖๔/๙๘.

โลก คือ สิ่งที่แตกสลายได้

ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์แล้วด้วยศีล
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มีศีล  
สมบูรณ์แล้วด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้น
แก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้น
แก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใจประกอบด้วยปีติ
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอกายของเราจงสงบเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ  
สงบนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงเสวยสุขเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว 
 เสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขแล้ว
ตั้งมั่นนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงรู้เห็นตามเป็นจริงเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว  
รู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว 
เบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายแล้ว
คลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้ว
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้ว  
ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย
วิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล
มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

นิพพิทา มีวิราคะเป็นผล
มีวิราคะเป็นอานิสงส์

ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นผล
มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์

สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล
มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

สุข มีสมาธิเป็นผล
มีสมาธิเป็นอานิสงส์

ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล
มีสุขเป็นอานิสงส์

ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล
มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์

ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล
มีปีติเป็นอานิสงส์

ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล
มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์

ศีลอันเป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล
มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม
ธรรมย่อมยังธรรมให้บริบูรณ์
เพื่อการถึงฝั่ง (คือนิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (สังสารวัฏ)
ด้วยอาการอย่างนี้แล.

-บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๓๖/๒๐๙

ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เพียรละอกุศลแข่งกับความตาย

ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด.

ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร
กระทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมา
ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า
ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ
งูพึงกัดเราก็ได้
แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้
ตะขาบพึงกัดเราก็ได้
เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพลาดล้มลงก็ได้
อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้
ดีของเราพึงซ่านก็ได้
เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้
ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้
มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้
พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้
เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้
ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา
ผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้
ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่
ภิกษุนั้น พึงกระทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง
เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย

เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้
พึงกระทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง
เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตราย
แก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนไม่มี
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษา
ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่.

(ในกรณีแห่งภิกษุผู้ผ่านกลางคืนมาถึงกลางวัน ก็มีข้อความที่
ตรัสไว้ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ผิดกันแต่เวลาเท่านั้น).

ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้
กระทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๓๑-๓๓๓/๑๗๑.

เพียรละอกุศลแข่งกับความตาย

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์และสังโยชน์
เธอทั้งหลายจงฟัง.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นอย่างไร
และสังโยชน์
เป็นอย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย รูป เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูป
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย เวทนเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในเวทนา
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัญญา
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย สังขาร เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสังขาร
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในวิญญาณ
ชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์เหล่านี้เรียกว่า
ธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
(ฉนฺทราคะ) นี้เรียกว่า สังโยชน์.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๐๒/๓๐๘.

(ในสูตรอื่นทรงแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ด้วยอายตนะภายในหก -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๑๐/๑๕๙.
และอายตนะภายนอกหก-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๓๕/๑๘๙. -ผู้รวบรวม)

ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์

พึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา

สารีบุตร  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า  
เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วหรือหนอ
  
สารีบุตร  ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
  
เรายังไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเลย  
ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา
  
สารีบุตร  แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่  รู้อย่างนี้ว่า
  
เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้ว  
ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์
ตามที่ศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายเนืองๆ
ทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด
 
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๓๙/๘๕๐.

พึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บุคคล ๔ จำพวก

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
มหาราช !   บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกเป็นไฉน ? 
บุคคล ๔ จำพวกคือ :-

บุคคลผู้มืดแล้วมืดต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไปจำพวก ๑.


มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่ามืดแล้วคงมืดต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลอันต่ำ
คือในตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลจักสาน
ตระกูลทำรถ หรือตระกูลเทหยากเยื่อ
ซึ่งเป็นคนยากจน
มีข้าวและน้ำน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง
มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก
เขาเป็นผู้มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เตี้ยค่อม
ขี้โรค ตาบอด ง่อยกระจอก มีตัวตะแคงข้าง
ไม่ค่อยจะมีข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
เขาซ้ำประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

มหาราช !  บุรุษพึงไปจากความมืดทึบสู่ความมืดทึบ
หรือพึงไปจากความมืดมัวสู่ความมืดมัว
หรือพึงไปจากโลหิตอันมีมลทินสู่โลหิตอันมีมลทิน ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตกล่าวว่าบุคคลนี้ มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วคงมืดต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลอันต่ำทราม
คือในตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลจักสาน
ตระกูลทำรถ หรือตระกูลเทหยากเยื่อ
ซึ่งเป็นคนยากจน
มีข้าวและน้ำน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง
มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก
เขาเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เตี้ยค่อม
ขี้โรค ตาบอด ง่อยกระจอก มีตัวตะแคงข้าง
ไม่ค่อยจะมีข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
แม้กระนั้น เขาก็ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขา ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

มหาราช !  บุรุษพึงขึ้นจากแผ่นดินสู่บัลลังก์
หรือพึงขึ้นจากบัลลังก์สู่หลังม้า
หรือพึงขึ้นจากหลังม้าสู่คอช้าง
หรือพึงขึ้นจากคอช้างสู่ปราสาท แม้ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลสูง
คือในสกุลกษัตริย์มหาศาล
สกุลพราหมณ์มหาศาล
หรือสกุลคหบดีมหาศาล
อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทองและเงินพอตัว มีอุปกรณ์
แห่งทรัพย์พอตัว มีทรัพย์และข้าวเปลือกพอตัว
เขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยความเกลี้ยงเกลาแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง
ร่ำรวยด้วยข้าว ด้วยน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
แต่เขากลับประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

มหาราช !   บุรุษลงจากปราสาทสู่คอช้าง
หรือลงจากคอช้างสู่หลังม้า
หรือลงจากหลังม้าสู่บัลลังก์
หรือลงจากบัลลังก์สู่พื้นดิน
หรือจากพื้นดินเข้าไปสู่ที่มืด แม้ฉันใด, 
มหาราช !   ตถาคตกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลสูง
คือในสกุลกษัตริย์มหาศาล
สกุลพราหมณ์มหาศาล
หรือสกุลคหบดีมหาศาล
อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินพอตัว
มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์พอตัว
มีทรัพย์และข้าวเปลือกพอตัว
เขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยความเกลี้ยงเกลาแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง
ร่ำรวยด้วยข้าว ด้วยน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
เขาย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติ สุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

มหาราช !  บุรุษพึงก้าวไปด้วยดีจากบัลลังก์สู่บัลลังก์
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากหลังม้าสู่หลังม้า
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากคอช้างสู่คอช้าง
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากปราสาทสู่ปราสาท แม้ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้มี อุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป.

มหาราช !  บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดังนี้.

-บาลี สคา. สํ ๑๕/๑๓๖/๓๙๓.

บุคคล ๔ จำพวก

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร

ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ธรรมเหล่านั้น พวกเธอพึงเรียนเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่ว  พึงเจริญทำให้มาก 
โดยอาการที่พรหมจรรย์   (คือศาสนานี้) จักมั่นคง ตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน, 
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน,
เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล 
เพื่อความสุขแก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ, 
คือ :- สติปัฏฐานสี่ สัมมัปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า 
โพชฌงค์เจ็ด   อริยมรรคมีองค์แปด.


ภิกษุทั้งหลาย !  บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้งหลายว่า : 
สังขารทั้งหลาย  มีความเสื่อมเป็นธรรมดา  พวกเธอจงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด,
การปรินิพพานของตถาคต จักมีในกาลไม่นานเลย
ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนนี้.

สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่มและคนแก่,
ทั้งที่เป็นคนพาล และบัณฑิต,
ทั้งที่มั่งมีและยากจน
ล้วนแต่มีความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า,
เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่, 
ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ
ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด  ฉันใด;
ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย  ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า  ฉันนั้น.   
วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว
เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว. 
ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
มีสติ  มีศีลเป็นอย่างดี
มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี 
ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด.
ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว 
จักละชาติสงสาร  ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๐/๑๐๗-๑๐๘.

พุทธวจน ตามรอยธรรม

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอได้เห็นท่อนไม้ใหญ่นั้น 
ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคา  หรือไม่ ?
“ได้เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูล.

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าท่อนไม้นั้น
จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งในหรือฝั่งนอก,
ไม่จมเสียในท่ามกลางน้ำ,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้
จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล

เพราะเหตุว่า
ลำแม่น้ำคงคา โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่ทะเล.  ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย !  แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น :
ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน,
ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก, 
ไม่จมเสียในท่ามกลาง,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน

เพราะเหตุว่า
สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดาที่โน้มน้อม  ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
อะไรเล่าเป็นฝั่งในหรือฝั่งนอก ?
อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง ?
อะไรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก ?
อะไรชื่อว่าถูกมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ?
อะไรชื่อว่าเน่าเสียเองในภายใน ?”

ภิกษุทั้งหลาย ! 
คำว่า “ฝั่งใน” เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖.  
คำว่า “ฝั่งนอก” เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖. 
คำว่า “จมเสียในท่ามกลาง” เป็นชื่อของ นันทิราคะ
(ความกำหนัดด้วยความเพลิน).
คำว่า “ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” เป็นชื่อของ อัส๎มิมานะ
(ความสำคัญว่า เรามี เราเป็น).
คำว่า “ถูกมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์
เพลิดเพลินด้วยกัน,
โศกเศร้าด้วยกัน,
มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข,
เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, 

ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้.   
คำว่า “ถูกอมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์
โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง
 
ว่า “ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า  ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้
คำว่า “ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้” เป็นชื่อของ กามคุณ ๕.
“ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน” คืออย่างไรเล่า ? 
คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล
มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด
มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว
ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น
ไม่ใช่สมณะ ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ 

เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. 
ภิกษุนี้  เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓/๓๒๒. 

พุทธวจน ตามรอยธรรม