วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

บทสวด ก่อนนอน

สะยานัสสะ เจปิ ภิกขะเว ภิกขุโน ชาคะรัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนอนตื่นอยู่

อุปปัชชะติ กามะวิตักโก วา พ๎ยาปาทะวิตักโก วา วิหิงสาวิตักโก วา
ถ้ามีกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น

ตัญจะ ภิกขุ นาธิวาเสติ ปะชะหะติ วิโนเทติ พ๎ยันตีกะโรติ
และภิกษุนั้นก็ไม่รับเอาวิตกเหล่านั้นไว้

อะนะภาวัง คะเมติ
แต่สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ

สะยาโนปิ ภิกขะเว ภิกขุ ชาคะโร เอวังภูโต อาตาปี โอตตัปปี สะตะตัง สะมิตัง อารัทธะวิริโย ปะหิตัตโตติ วุจจะตีติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นอย่างนี้ แม้กำลังนอนตื่นอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร รู้สึกกลัว (ต่อบาปอกุศล) อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิตย์

ตัสสะ เจ อานันทะ ภิกขุโน อิมินา วิหาเรนะ วิหะระโต
อานนท์ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้

สะยะนายะ จิตตัง นะมะติ
จิตน้อมไปเพื่อการนอน

โส สะยะติ เอวัง มัง สะยันตัง นาภิชฌาโทมะนัสสา ปาปะกา อะกุสะลา ธัมมา อันวาสสะวิสสันตีติ

ภิกษุนั้นก็นอนด้วยการตั้งจิตว่า อกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย คือ อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้

อิติหะ ตัตถะ สัมปะชาโน โหติ

ในกรณีอย่างนี้ ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในกรณีแห่งการนอนนั้น

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘/๑๑.
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๒๓๘/๒๔๘.

บทสวดก่อนนอน

ก่อนนอน

ก่อนนอน

ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ

โสณะ !  เธอมีความคิดในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร :
เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์
เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งพิณ  มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนี้  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใด สายพิณของเธอขึงตึงเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ  จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ
ไม่ตึงนักหรือไม่หย่อนนัก
ขึงได้ระเบียบเสมอๆ กันแต่พอดี
เมื่อนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนั้น  พระเจ้าข้า !”.
โสณะ !  ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ
ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน,
ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
.
โสณะ !  เหตุผลนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี,
จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ต้องเป็นธรรมชาติที่เสมอๆ กัน,
จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด.

“พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”.

-บาลี ฉกฺก. อํ ๒๒/๔๑๘/๓๒๖.

ต้องขึงสายพิณพอเหมาะ

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายชื่อแห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา

จุนทะ !  สัลเลขธรรม (ความขูดเกลา) เป็นสิ่งที่เธอทั้งหลายพึงกระทำในธรรมทั้งหลายเหล่านี้
กล่าวคือ :-
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ เบียดเบียน  เราจักเป็นผู้ ไม่เบียดเบียน;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำปาณาติบาต  เราจัก เว้นขาดจากปาณาติบาต;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำอทินนาทาน  เราจัก เว้นขาดจากอทินนาทาน;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น ไม่ประพฤติพรหมจรรย์  เราจักเป็น ผู้ประพฤติพรหมจรรย์;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเท็จ  เราจัก เว้นขาดจากการพูดเท็จ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดส่อเสียด  เราจัก เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดคำหยาบ  เราจัก เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อ  เราจัก เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มากด้วยอภิชฌา  เราจักเป็นผู้ ไม่มากด้วยอภิชฌา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีจิตพยาบาท  เราจักเป็นผู้ ไม่มีจิตพยาบาท;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาทิฏฐิ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาทิฏฐิ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสังกัปปะ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสังกัปปะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวาจา  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวาจา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉากัมมันตะ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมากัมมันตะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาอาชีวะ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาอาชีวะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวายามะ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวายามะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสติ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสติ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสมาธิ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสมาธิ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาญาณะ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาญาณะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวิมุตติ  เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวิมุตติ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีถีนมิทธะกลุ้มรุม  เราจักเป็นผู้ ปราศจากถีนมิทธะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ฟุ้งซ่าน  เราจักเป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีวิจิกิจฉา  เราจักเป็นผู้ ข้ามพ้นวิจิกิจฉา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มักโกรธ  เราจักเป็นผู้ ไม่มักโกรธ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ผูกโกรธ  เราจักเป็นผู้ ไม่ผูกโกรธ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ลบหลู่คุณ  เราจักเป็นผู้ ไม่ลบหลู่คุณ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ แข่งดี  เราจักเป็นผู้ ไม่แข่งดี;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ริษยา  เราจักเป็นผู้ ไม่ริษยา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ตระหนี่  เราจักเป็นผู้ ไม่ตระหนี่;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ โอ้อวด  เราจักเป็นผู้ ไม่โอ้อวด;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีมารยา  เราจักเป็นผู้ ไม่มีมารยา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ กระด้าง  เราจักเป็นผู้ ไม่กระด้าง;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ดูหมิ่นท่าน  เราจักเป็นผู้ ไม่ดูหมิ่นท่าน;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ว่ายาก  เราจักเป็นผู้ ว่าง่าย;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีมิตรชั่ว  เราจักเป็นผู้ มีมิตรดี;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ประมาท  เราจักเป็นผู้ ไม่ประมาท;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีศรัทธา  เราจักเป็นผู้ มีศรัทธา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีหิริ  เราจักเป็นผู้ มีหิริ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีโอตตัปปะ  เราจักเป็นผู้ มีโอตตัปปะ;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีสุตะน้อย  เราจักเป็นผู้ มีสุตะมาก;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ขี้เกียจ  เราจักเป็นผู้ ปรารภความเพียร;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีสติหลงลืม  เราจักเป็นผู้ มีสติตั้งมั่น;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีปัญญาทราม  เราจักเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยปัญญา;
ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน, เป็นผู้ยึดถืออย่างเหนียวแน่น, และเป็นผู้ยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน 
เราจักเป็นผู้ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน, เป็นผู้ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น, และเป็นผู้ง่ายที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๗๕/๑๐๔.
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา สัลเลขธรรม

ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา สัลเลขธรรม

ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา สัลเลขธรรม
เพิ่มคำอธิบายภาพ

ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา สัลเลขธรรม

รายชื่อแห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

รัตนะที่หาได้ยาก

เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย !  ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการ หาได้ยากในโลก.
๕ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-

(๑) ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ 
(๒) บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
(๓) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว
(๔) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
(๕) กตัญญูกตเวทีบุคคล
เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย !  ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก.

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๖๖/๑๙๕.

รัตนะหาได้ยากในโลก

รัตนะที่หาได้ยาก

อกุศลกรรมบถ ๑๐

จุนทะ ! 
ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง
ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง 
ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง


จุนทะ !  ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า
มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต.
(๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้
คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย.
(๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง
ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา
อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม
โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย)
เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
จุนทะ !  อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง.

จุนทะ !  ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ
ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี
ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี
อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า
“บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้,
บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น,
เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่.
(๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น
เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน
หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น
พอใจ ยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก.
(๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น
กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ
ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น.
(๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล
ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย
เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาละเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
จุนทะ !  อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.

จุนทะ !  ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง)
เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้;
(๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้ายว่า
“สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย
จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้ เป็นต้น;
(๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า
“ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล),
ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล),
การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล),
ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี,
โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี,
มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี,
โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี,
สมณพราหมณ์ที่ไปแล้ว ปฏิบัติแล้วโดยชอบถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้
และโลกอื่นด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้.
จุนทะ !  อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง.

จุนทะ !  เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐.
จุนทะ !  บุคคลประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้
ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว
แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;
แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;
แม้จะจับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;
แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;
แม้จะไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่ไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้;
แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้,
แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
จุนทะ !  เพราะเหตุว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้
เป็นตัวความไม่สะอาด และเป็นเครื่องกระทำความไม่สะอาด.
จุนทะ !  อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้เป็นเหตุ
นรกย่อมปรากฏ
กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ
เปรตวิสัยย่อมปรากฏ
หรือว่า ทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี
.
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๓/๑๖๕.
อกุศลธรรมบถ ความไม่สะอาด จุนทะ

เมื่อคิดถึงสิ่งใด แสดงว่าพอใจในสิ่งนั้น

ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่ (เจเตติ)
ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่ (ปกปฺเปติ)
และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่ (อนุเสติ)
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ.
เมื่ออารมณ์ มีอยู่,
ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี;
เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว,
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี;
เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มี,
ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป :
 ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕.


วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระโสดาบันเป็นผู้บริบูรณ์ในศีล (ปาฎิโมกข์) ได้พอประมาณในสมาธิและปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย !  สิกขาบทร้อยห้าสิบสิกขาบทนี้ย่อมมาสู่อุทเทส (การยกขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์)
ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ
อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น. 
ภิกษุทั้งหลาย !  สิกขาสามอย่างเหล่านี้มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น.
สิกขาสามอย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-    
อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ภิกษุทั้งหลาย !  เหล่านี้แล สิกขาสามอย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา.
เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อย {๑} บ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง.
    ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? 
ข้อนั้นเพราะเหตุว่าไม่มีผู้รู้ใดๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้น
เพราะเหตุสักว่าการล่วงสิกขาบทเล็กน้อย และการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้.  
 ส่วนสิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ {๒} ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์,
เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.

๑. สิกขาบทเล็กน้อย คือ อภิสมาจาริกาสิกขา เป็นสิกขาบทที่บัญญัติเพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส และเลื่อมใสยิ่งเกิดขึ้นแก่คนที่เลื่อมใสแล้ว.
๒. สิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือ สิกขาบทปาฏิโมกข์.


-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๙๗/๕๒๖.

อธีสีงสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

การเจริญเมตตา (หรือการเจริญพรหมวิหาร )

เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน
และอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
จักไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อใด 
จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน
และอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น
เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ กระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ,
กรุณาเจโตวิมุตติ, มุทิตาเจโตวิมุตติ, อุเบกขาเจโตวิมุตติ
ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว
เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์
พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด
เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว
กายก็สงบรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔  ก็อย่างนั้น
และเธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ทั่วทุกทาง
เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่

มีจิตประกอบด้วยกรุณา
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น 
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น
และเธอมีจิตประกอบด้วยกรุณา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางทั่วทุกทาง
เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่

มีจิตประกอบด้วยมุทิตา
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น
และเธอมีจิตประกอบด้วยมุทิตา อันกว้างขวาง  เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางทั่วทุกทาง
เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่

มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น
และเธอมีจิตประกอบด้วย อุเบกขา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
ทั่วทุกทาง เสมอหน้ากันตลอดโลกทั้งปวงที่มีอยู่

สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์
ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ
อันความร้อนแผดเผาเร่าร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ
เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ
และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด
เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น
ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง
เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง
ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยากฉันใด
ในเมตตาเจโตวิมุตติ (กรุณาเจโตวิมุตติ..., มุทิตาเจโตวิมุตติ..., อุเบกขาเจโตวิมุตติ...,)
ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัดย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น
เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว
เมื่อนั้นเธอจักเดินไปในทางใดๆ ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ
ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ นั่งอยู่ในที่ใดๆ
ก็จักนั่งเป็นสุขในที่นั้นๆ นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ 
เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรกทำให้เจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง
ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว

พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่าง คือ
หลับเป็นสุข ๑
ตื่นเป็นสุข ๑
ไม่ฝันร้าย ๑
เป็นที่รักของพวกมนุษย์ ๑
เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ ๑
เทพยดารักษา ๑
ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดีไม่ต้องบุคคลนั้น ๑
จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว ๑
สีหน้าผุดผ่อง ๑
ไม่หลงทำกาละ ๑
เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก ๑

เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก
ทำให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว
ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว
พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ อย่างนี้แล.

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๓๐๘/๑๖๐.,
-บาลี มู. ม. ๑๒/๕๑๘/๔๘๒.
-บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๗๖/๒๒๒.,
-บาลี สี. ที. ๙/๓๑๐/๓๘๓.

การเจริญเมตตา



วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

ผู้เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นมิตร หรือศัตรู

อานนท์ !  สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู
ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นมิตร เป็นอย่างไรเล่า

อานนท์ !  ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า
“สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลาย
และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย”

ดังนี้ เป็นต้น
สาวกเหล่านั้นของศาสดา
ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง
แต่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย.
อานนท์ !  สาวกทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่า
ผู้เรียกร้องหาศาสดาเพื่อความเป็นศัตรู
ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นมิตร
.

อานนท์ !  สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร
ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรู
เป็นอย่างไรเล่า.
อานนท์ !  ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแล้วจึงแสดงธรรมแก่
สาวกทั้งหลายว่า
“สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลาย
และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย”

ดังนี้ เป็นต้น
สาวกเหล่านั้นของศาสดา
ย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง
และไม่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดา.
อานนท์ !  สาวกทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้เรียกร้องหาศาสดา
เพื่อความเป็นมิตร
ไม่เรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรู.

อานนท์ !  เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย
จงเรียกร้องหาตถาคตเพื่อความเป็นมิตรเถิด
อย่าเรียกร้องเพื่อความเป็นศัตรูเลย
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลายเองตลอดกาลนาน.

อานนท์ !  เราไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทะนุ-ถนอม
เหมือนพวกช่างหม้อทำแก่หม้อที่ยังเปียก ยังดิบอยู่.
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด.
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.

-บาลีอุปริ. ม. ๑๔/๒๔๔/๓๕๕


วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา

ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือ :-
    ๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล
    ๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง
    ๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย
    ๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
    ๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน
    ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า
    “จิตของเรา จักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป
เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน อยู่,
จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่
และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง
ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง
มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่”ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าโจรผู้คอยช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง
ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา

เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนั้น
เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า
“จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป
เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน อยู่,
จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่
และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง
ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง
มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่
เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ ที่เธออดกลั้น ไม่ได้ อยู่อีกหรือ ? “ข้อนั้นหามิได้พระเจ้าข้า !”.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย
จงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้อยู่เป็นประจำเถิด นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
และความสุขแก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน.

-บาลี ม. ม. ๑๒/๒๕๕/๒๖๗.


“พึงศึกษาว่า ‘เราจักไม่พูดถ้อยคํา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน’
    เมื่อมีถ้อยคําซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จําต้องหวังการพูดมาก,
    เมื่อมีการพูดมากย่อมคิดฟุ้งซ่าน, เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สํารวม,
    เมื่อไม่สํารวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ


-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๘๙/๕๘.
พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ

พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อการละขาดซึ่งภพ

สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า
ย่อมกล่าวซึ่งโรคนั้น โดยความเป็นตัวเป็นตน
เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด
แต่สิ่งนั้นย่อมเป็นโดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้น
สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว
มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น.
เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย
เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.
พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ
ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ.
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่ามีได้เพราะภพ
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ.
ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความออกไปได้จากภพ
ว่ามีได้เพราะวิภพ
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้.
ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง.
เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.
    ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว
    และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้.
    ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง
    ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.
    เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่
    เขาย่อมละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหาด้วย.
    ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน.
    ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น.
    ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.
-บาลี อุ.ขุ. ๒๕/๑๒๑/๘๔.

พุทธวจน  ภพภูมิ
เพิ่มคำอธิบายภาพ

ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อการละขาดซึ่งภพ

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน

สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !   อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา.  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !   อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต”.
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    มาณพ !  สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้.

“ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อมิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ !  ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงทราบเนื้อความแห่งอุเทศนี้โดยพิสดารด้วยเถิด”. 
 
    มาณพ !  ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป :-
    สุภมาณพ โตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
    “ชอบแล้ว พระเจ้าข้า !  ”.
    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น.
มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นนี้คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต.

    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน.
 
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่.

    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา.

   มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ.

    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉา ในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น.
มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น.

    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีโภคะน้อย.
มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนกระด้างเย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะ
แก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะ แก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้ พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน  เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่าอะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน.
    มาณพ !  บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน  เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้  หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก.
    มาณพ !  ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว สอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน.
    มาณพ !  ด้วยประการฉะนี้แล  
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน 
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความมีโรคมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม 
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก.

    มาณพ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต.

 
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้
    สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า :-
    “แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า !   แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า !  พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ.  ขอพระโคดมผู้เจริญ !   จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก

ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”.

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.


ทำชั่วได้ชั่ว

ความยากจน และการกู้หนี้
ท่านกล่าวว่าเป็นความทุกข์ในโลก. 
คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน
เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง.
การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของผู้ได้กาม.

ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน : 
ผู้ใด ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
สั่งสมแต่บาปกรรม  กระทำกายทุจริต-วจีทุจริต-มโนทุจริต
ปกปิดอยู่ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา,
ผู้นั้น พอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ ในที่นั้นๆ.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน
เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน.
ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร (ความร้อนใจ) อันเป็นเครื่องทรมานใจ
ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า.
คนชั่วทำบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน
ไปสู่กำเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจำ อยู่ในนรก.
การถูกจองจำนั้นเป็นทุกข์
ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย... .

    -บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๒/๓๑๖.

การกู้หนี้เป็นทุกข์ของคนในโลก

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

การปรากฏของพระตถาคต มีได้ยากในโลก

ภิกษุทั้งหลาย ! การมาปรากฏของบุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำาสอง)
มีได้ยากในโลก.
ใครเล่า เป็นบุคคลเอก ?
ตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง
เป็นบุคคลเอก (ไม่มีใครซ้ำาสอง).
ภิกษุทั้งหลาย ! การมาปรากฏของบุคคลเอกนี้แล
มีได้ยากในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่ตถาคต
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้น
จึงเกิดมีของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี
สี่อย่างนี้ปรากฏขึ้น.
สี่อย่างอะไรเล่า ?

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน
กามคุณ ยินดีในกามคุณ บันเทิงอยู่ในกามคุณ,
ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ
ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง.
ภิกษุทั้งหลาย !
นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่หนึ่ง,
มีขึ้นมาเพราะการบังเกิดของตถาคต
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน
การถือตัว ยินดีในการถือตัว บันเทิงอยู่ในการถือตัว,
ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดการถือตัว
ประชาชนเหล่านั้น
ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง.
ภิกษุทั้งหลาย !
นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สอง,
มีขึ้นมาเพราะการบังเกิดของตถาคต
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ประชาชนทั้งหลาย พอใจใน
ความวุ่นวายไม่สงบ ยินดีในความวุ่นวายไม่สงบ
บันเทิงอยู่ ในความวุ่นวายไม่สงบ,
ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่เป็นไป เพื่อความสงบ
ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง
เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง.
ภิกษุทั้งหลาย !
นี่คือของน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี อย่างที่สาม,
มีขึ้นมาเพราะการบังเกิดของตถาคต
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! ประชาชนทั้งหลาย ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา
เป็นคนบอด ถูกความมืดครอบงำาเอาแล้ว
,
ครั้นตถาคตแสดง ธรรมที่กำจัดอวิชชา
ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง.
ภิกษุทั้งหลาย !
นี่คือของน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี อย่างที่สี่,
มีขึ้นมาเพราะการบังเกิดของตถาคต
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ.

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๒๙/๑๔๐,
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๗/๑๒๘.

เรื่องย่อ ที่ควรทราบก่อน

ภิกษุทั้งหลาย ! นับแต่นี้ไป ๙๑ กัป
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าวิปัสสี
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! นับแต่นี้ไป ๓๑ กัป
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าสิขี
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกัปที่ ๓๑ นั่นเอง
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าเวสสภู
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในภัททกัปนี้แหละ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากกุสันธะ
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในภัททกัปนี้แหละ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าโกนาคมนะ
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในภัททกัปนี้แหละ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากัสสปะ
ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.

ภิกษุทั้งหลาย ! พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าวิปัสสี มีประมาณอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าสิขี มีประมาณอายุขัย ๗๐,๐๐๐ ปี.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าเวสสภู มีประมาณอายุขัย ๖๐,๐๐๐ ปี.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากกุสันธะ มีประมาณอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าโกนาคมนะ มีประมาณอายุขัย ๓๐,๐๐๐ ปี.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากัสสปะ มีประมาณอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี.

ภิกษุทั้งหลาย ! พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าวิปัสสี มีขัณฑะและติสสะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าสิขี มีอภิภูและสัมภวะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าเวสสภู มีโสนะและอุตตระ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากกุสันธะ มีวิธูระและสัญชีวะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าโกนาคมนะ มีภิยโยสะและอุตตระ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากัสสปะ มีติสสะและภารทวาชะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าวิปัสสี มีชื่อว่าอโสกะ.
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าสิขี มีชื่อว่าเขมังกระ.
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าเวสสภู มีชื่อว่าอุปสันตะ.
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากกุสันธะ มีชื่อว่าวุฑฒิชะ.
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่าโกนาคมนะ มีชื่อว่าโสตถิชะ.
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
พระนามว่ากัสสปะ มีชื่อว่าสัพพมิตตะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! พระราชานามว่าพันธุมาเป็นบิดา
พระเทวีนามว่าพันธุมดีเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิด
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าวิปัสสี
นครชื่อว่าพันธุมดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา.
พระราชานามว่าอรุณะเป็นบิดา
พระเทวีนามว่าปภาวดีเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิด
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าสิขี
นครชื่อว่าอรุณวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ.
พระราชานามว่าสุปปตีตะเป็นบิดา
พระเทวีนามว่ายสวดีเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิดของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าเวสสภู
นครชื่อว่าอโนมะ ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปตีตะ.
พราหมณ์ชื่อว่าอัคคิทัตตะเป็นบิดา
พราหมณีชื่อว่าวิสาขาเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิด
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากกุสันธะ
สมัยนั้นมีพระราชานามว่าเขมะ นครชื่อว่าเขมวดี
ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าเขมะ
พราหมณ์ชื่อว่ายัญญทัตตะเป็นบิดา
พราหมณีชื่อว่าอุตตราเป็นมารดาผู้ให้กำเนิด
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่าโกนาคมนะ
สมัยนั้นมีพระราชานามว่าโสภะ นครชื่อว่าโสภวดี
ได้เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ.
พราหมณ์ชื่อว่าพรหมทัตตะเป็นบิดา
พราหมณีชื่อธนวดีเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิด
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระนามว่ากัสสปะ
นครชื่อว่าพาราณสี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในภัททกัปป์นี้ ในบัดนี้เราผู้เป็น
อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
เป็นกษัตริย์โดยชาติ บังเกิดแล้วในขัตติยสกุล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
โดยโคตร เป็นโคตมโคตร.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้ประมาณอายุขัย (แห่งสัตว์ในยุค) ของเราสั้นมาก :
ผู้ที่เป็นอยู่ได้นานก็เพียงร้อยปีเป็นอย่างยิ่ง,
ที่เกินร้อยปีขึ้นไปมีน้อยนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้เราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
ได้ตรัสรู้ ณ ควงแห่งไม้อัสสัตถะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้สาวกสองรูปมีนามว่า
สารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกคู่เลิศของเรา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้สาวกสันนิบาตของเรา
มีเพียงครั้งเดียว และมีภิกษุถึง ๑๒๕๐ รูป.
สังฆสันนิบาตแห่งสาวกของเราในครั้งนี้
ผู้เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพทั้งสิ้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากใกล้ชิดของเรา
คือ อานนท์ จัดเป็นอุปัฏฐากอันเลิศ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบัดนี้พระราชานามว่าสุทโธทนะเป็นบิดาของเรา
พระเทวีนามว่ามายาเป็นมารดาผู้ให้กำาเนิดแก่เรา
นครชื่อกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี (แห่งบิดาของเรา).

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๒-๘/๒-๙.

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

สัญญา ๑๐ ประการ ในฐานะแห่งการรักษาโรคด้วยอำนาจสมาธิ

อานนท์ !  ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์
แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่เธอแล้ว 
ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
คือภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว
อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอ
ก็จะระงับไปโดยควรแก่ฐานะ
สัญญา ๑๐ ประการ นั้นคือ
อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา
นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุ-อนิจจสัญญา อานาปานสติ.

   
อานนท์ !  อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้
ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง
พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า
“รูป ไม่เที่ยง; 
เวทนา ไม่เที่ยง; 
สัญญา ไม่เที่ยง;
สังขาร ไม่เที่ยง;
วิญญาณ ไม่เที่ยง” ดังนี้ 
เป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า เหล่านี้อยู่
ด้วยอาการอย่างนี้ :
นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา.

 อานนท์ !  อนัตตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้
ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง
พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า
“ตา เป็นอนัตตา รูป เป็นอนัตตา; 
หู เป็นอนัตตา เสียง เป็นอนัตตา; 
จมูก เป็นอนัตตา กลิ่น เป็นอนัตตา; 
ลิ้น เป็นอนัตตา  รส เป็นอนัตตา; 
กาย เป็นอนัตตา โผฏฐัพพะ เป็นอนัตตา; 
ใจ เป็นอนัตตา  ธรรมารมณ์ เป็นอนัตตา” ดังนี้
เป็นผู้เห็นซึ่งความเป็นอนัตตาในอายตนะ
ทั้งภายในและภายนอกหก เหล่านี้อยู่
ด้วยอาการอย่างนี้ :
นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา.
   
อานนท์ !  อสุภสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้
เห็นโดยประจักษ์ซึ่งกายนี้นี่แหละ
แต่พื้นเท้าขึ้นไปถึงเบื้องบน
แต่ปลายผมลงมาถึงเบื้องล่าง
ว่า มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ;
คือกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด
อาหารในกระเพาะ อุจจาระ
น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา
น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร;
เป็นผู้เห็นความไม่งามในกายนี้อยู่
ด้วยอาการอย่างนี้ :
นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.

 อานนท์ !  อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ? 
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง
พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า
“กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก; คือในกายนี้มีอาพาธต่างๆ เกิดขึ้น,
กล่าวคือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคที่ศีรษะ โรคที่หู โรคที่ปาก
โรคที่ฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้มีพิษร้อน ไข้เซื่องซึม
โรคกระเพาะ โรคลมสลบ ลงแดง จุกเสียด เจ็บเสียว โรคเรื้อรัง โรคฝี โรคกลาก
โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน คุดทะราด
โรคละออง โรคโลหิต โรคดีซ่าน เบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง ริดสีดวงทวาร
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ไข้สันนิบาต ไข้เพราะฤดูแปรปรวน
ไข้เพราะบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ไข้เพราะออกกำลังเกิน
ไข้เพราะวิบากกรรม ความไม่สบายเพราะความหนาว
ความร้อน ความหิว ความระหาย การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะ” ดังนี้;
เป็นผู้เห็นโทษในกายนี้อยู่
ด้วยอาการอย่างนี้ :
นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.  

อานนท์ !  ปหานสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ 
ไม่ยอมรับไว้ซึ่งกามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป;
ไม่ยอมรับไว้ซึ่งพ๎ยาปาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป;
ไม่ยอมรับไว้ซึ่งวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป;
ไม่ยอมรับไว้ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป;
นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.
   

อานนท์ !  วิราคสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง
พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า
“ธรรมชาตินั่น สงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต :
กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง
เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา 
เป็นความจางคลาย 
เป็นความดับเย็น” ดังนี้ :
นี้เรียกว่า วิราคสัญญา.

 อานนท์ !  นิโรธสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง
พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า
“ธรรมชาตินั่น สงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต : กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
เป็นความดับ
เป็นความดับเย็น” ดังนี้ : นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา.
   
อานนท์ !  สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ อนุสัย (ความเคยชิน) ในการตั้งทับ
ในการฝังตัวเข้าไปยึดมั่นแห่งจิตด้วยตัณหาอุปาทานใดๆ ในโลก มีอยู่,
เธอละอยู่ซึ่งอนุสัยนั้นๆ งดเว้นไม่เข้าไปยึดถืออยู่ :
นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา (ความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าเป็นสิ่งไม่น่ายินดี).
   
อานนท์ !  สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา  เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา 
ย่อมเกลียดชัง ต่อสังขารทั้งหลายทั้งปวง :
นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง).

 อานนท์ !  อานาปานสติ เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !  ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง ก็ตาม
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก.
   
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
   
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก” ;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
   
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
   
นี้เรียกว่า อานาปานสติ.
  
อานนท์ !  ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์
แล้วกล่าวสัญญาสิบประการเหล่านี้แก่เธอแล้ว
ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
คือภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว
อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอก็จะระงับไป โดยควรแก่ฐานะ.
   
ลำดับนั้นแล ท่านอานนท์จำเอาสัญญาสิบประการเหล่านี้
ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
เข้าไปหาท่านคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญาสิบประการแก่ท่าน
เมื่อท่านคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว
อาพาธก็ระงับไปโดยฐานะอันควร. 
ท่านคิริมานนท์หายแล้วจากอาพาธ และอาพาธก็เป็นเสมือนละไปแล้วด้วย แล.

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๑๕/๖๐.



สัญญาสิบประการ คิริมานนทสูตร อาพาธสูตร

พุทธวจน,อานาปานสติ,

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

การบริโภคกามคุณทั้ง ๕ อย่างไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย !  กามคุณเหล่านี้มี ๕ อย่าง.
๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-
รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู,
กลิ่นที่ดมด้วยจมูก,
รสที่ลิ้มด้วยลิ้น
และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย
อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
มีลักษณะน่ารัก
เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่
เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณมี ๕ อย่าง เหล่านี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย !  ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม
ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว
ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ
ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์
ทำการบริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่;
ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า
เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ
แล้วแต่มารผู้มีบาปต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่างใด ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนจมอยู่ในกองบ่วง
ในลักษณะที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่ามันจะถึงซึ่งความพินาศย่อยยับ
เป็นไปตามความประสงค์ของพรานทุกประการ,
เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหนีไปไหนไม่พ้นเลย ดังนี้,
ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !  ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม
ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว
มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่
เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์
บริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่;
ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า
เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ
ไปตามความประสงค์ของมารผู้มีบาปแต่อย่างใด ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !   ปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง
แม้นอนจมอยู่บนกองบ่วง
มันก็เป็นสัตว์ที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่า
เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของพรานแต่อย่างใด,
เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนีไปได้ตามที่ต้องการ ดังนี้,
ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !   (อีกอย่างหนึ่ง)
เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง
เดินอยู่ก็สง่างาม
ยืนอยู่ก็สง่างาม หมอบอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม.
เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้นยังไม่มาสู่คลองแห่งจักษุของพราน,
ข้อนี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย !   ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
เข้าถึงซึ่งปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า
ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย
กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร
ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น.
    (ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน-ตติยฌาน- จตุตถฌาน-อากาสานัญจายตนะ-วิญญาณัญจายตนะ- อากิญจัญญายตนะ-เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป, จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ โดยข้อความสืบต่อไปว่า :-)

ภิกษุทั้งหลาย !   ยิ่งไปกว่านั้นอีก :
ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง
เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่.
อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอบ.
ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุนี้เรากล่าวว่า
ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอด ไม่มีร่องรอย
กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมารไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น,
ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก.
ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างาม
นั่งอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม.
เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย !  
เพราะเหตุว่า
ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจของมารผู้มีบาป, ดังนี้แล.

บาลี มู. ม. ๑๒/๓๓๑/๓๒๗.