วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

อริยสัจสี่โดยสังเขป (ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.
ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ :-
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก
อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจความเพลิน
มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม,
ตัณหาในความมีความเป็น,
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น
ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง
ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย.
! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนั่นเอง,
ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ,
ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ,
การงานชอบ,
การเลี้ยงชีพชอบ,
ความเพียรชอบ,
ความระลึกชอบ,
ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอ
พึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์,” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.

1 ความคิดเห็น: