วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประเภทของกรรม

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรม 4 อย่างเหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วกัน.

กรรม 4 อย่าง อย่างไรเล่า ?

(1) ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่.
(2) ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่.
(3) ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่.
(4) ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.


(1)
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้
ย่อมทำความปรุงแต่งทางกาย อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ย่อมทำความปรุงแต่งทางวาจา อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ย่อมทำความปรุงแต่งทางใจ อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน.

ครั้นเขาทำความปรุงแต่งดังนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ผัสสะทั้งหลาย อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขา
ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปด้วยความเบียดเบียน.

เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว
ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว
ดังเช่น พวกสัตว์นรก.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่ากรรมดำ มีวิบากดำ.


(2)
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้
ย่อมทำความปรุงแต่งทางกาย อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ย่อมทำความปรุงแต่งทางวาจา อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ย่อมทำความปรุงแต่งทางใจ อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน.

ครั้นเขาทำความปรุงแต่งดังนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน
ผัสสะทั้งหลายที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขา
ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกอันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน.

เขาอันผัสสะที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว
ย่อมเสวยเวทนาที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว
ดังเช่น พวกเทพสุภกิณหา.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่ากรรมขาว มีวิบากขาว.


(3)
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในกรณีนี้
ย่อมทำความปรุงแต่งทางกาย
อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง
ย่อมทำความปรุงแต่งทางวาจา
อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง
ย่อมทำความปรุงแต่งทางใจ
อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง.

ครั้นเขาทำความปรุงแต่งดังนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง.

ผัสสะทั้งหลาย
ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขา
ผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง.

เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้างถูกต้องแล้ว
ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง
อันเป็นเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เจือกัน
ดังเช่น พวกมนุษย์ เทพบางพวก วินิบาตบางพวก.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.


(4)
ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
นั้นเป็นอย่างไรเล่า? คือ

สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ)
สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ)
สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.


-จตุกฺก. อํ. 21/320-321/237

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น