วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ธรรม ๗ ประการของผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการนี้
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นอย่างไร คือ :-

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! 
ภิกษุมีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ 
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน 
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน 
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๓) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม
ได้แล้วโดยธรรม
ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร
ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน
ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไป
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล

ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๕) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท อันผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ
และถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันในศีลเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๖) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก (นิยฺยานิก)
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
และถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันในทิฏฐิเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการเหล่านี้แล
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้

ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันไว้.

ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนยอดเป็นที่สูงสุด
เป็นที่ยึดคุมของเรือนยอด ฉันใด
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้
ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ก็ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เป็นอย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่างก็ตาม
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว (ปริยุฏฺฐาเนน ปริยุฏฺฐิตจิตฺโต)
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มีอยู่หรือไม่หนอ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะครอบงำ
หรือมีจิตอันพยาบาทครอบงำ
หรือมีจิตอันถีนมิทธะครอบงำ
หรือมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ
หรือมีจิตอันวิจิกิจฉาครอบงำ
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
หรือเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกอื่น
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุุเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน
มิได้มีเลย จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว
เพื่อความตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
นี้คือ ญาณที่ ๑ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตนหรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตน
นี้คือญาณที่ ๒ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี
นี้คือญาณที่ ๓ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
ความออกจากอาบัติเช่นใด ย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
อริยสาวกนั้นจะรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น
ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนหงาย
ถูกถ่านไฟด้วยมือ หรือด้วยเท้าเข้าแล้ว
ก็จะชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๔ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
   

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
อริยสาวกย่อมถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำ
ของเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นก็ยังมีอยู่
เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน
ย่อมเล็มหญ้ากินไปด้วย ชำเลืองดูลูกไปด้วยฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๕ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
 ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมทำให้เกิดประโยชน์
ย่อมทำไว้ในใจ
ย่อมกำหนดด้วยจิตทั้งปวง
ย่อมเงี่ยโสตลงฟังธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๖ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๗ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว
ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๕๘๑/๕๔๒.


พุทธวจน คู่มือโสดาบัน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น