เต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินแต่ไกล,
ครั้นแล้ว จึงหดอวัยวะทั้งหลาย
มีศีรษะเป็นที่ห้าเข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน,
ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า
“เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก
ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า
แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้นคร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา
สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง;
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น;
มารผู้ใจบาปก็คอยช่อง
ต่อพวกเธอทั้งหลายติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู
หรือทางจมูกหรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ”, ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย
จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด;
ได้เห็นรูปด้วยตา,
ได้ฟังเสียงด้วยหู,
ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก,
ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น,
ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย,
หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด,
อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย,
สิ่งที่เป็นบาปอกุศลคือ
อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ.
พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้,
พวกเธอทั้งหลายจงรักษา
และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย
จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่;
ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป
จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย
และจักต้องหลีกไปเอง,
เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด,
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้น.
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้,
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น,
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด,
เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๒/๓๒๐.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น