วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ที่รักที่เจริญใจในโลก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่.
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ (วิญญาณ) ทางตา
สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น...ทางกาย...ทางใจ.
ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ.
เวทนาจากผัสสะทางตา เวทนาจากผัสสะทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น...ทางกาย...ทางใจ.
การหมายรู้ (สัญญา) เกี่ยวกับรูป การหมายรู้เกี่ยวกับเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
เจตนาในการหมายรู้ (สัญเจตนา) เกี่ยวกับรูป...เกี่ยวกับเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
การตรึก (วิตก) ที่เป็นไปทางรูป การตรึกที่เป็นไปทางเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
การตรอง (วิจาร) ที่เป็นไปทางรูป การตรองที่เป็นไปทางเสียง...กลิ่น...รส...กายสัมผัส...ธรรมารมณ์.
ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่นตัณหาในรส ตัณหาในกายสัมผัส ตัณหาในธรรมารมณ์.

(แต่ละอย่าง ๆ เหล่านี้)
เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก.
ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้
เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี่.
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้
เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี่.

มหา. ที. ๑๐/ ๒๙๗ – ๒๙๘.

ที่รักที่เจริญใจในโลก

ความอยากเป็นเหตุแห่งความทุกข์

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.
๙ อย่าง อย่างไรเล่า ?
๙ อย่าง คือ :-
เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา);
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ);
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย);
เพราะอาศัยความปลงใจรัก 

จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค);
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ 

จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ);
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา 

จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห);
เพราะอาศัยความจับอกจับใจ 

จึงมี ความตระหนี่(มจฺฉริยํ);
เพราะอาศัยความตระหนี่ 
จึงมี การหวงกั้น(อารกฺโข);
เพราะอาศัยการหวงกั้น 

จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ) ; 
กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จทั้งหลาย :
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ชื่อว่าธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.
นวก. อํ. ๒๓/๔๑๓/๒๒๗. , (มหา. ที. ๑๐/๖๙/๕๙).

พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ

พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

อริยสัจสี่โดยสังเขป (ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้,
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ
คือทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.
ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ :-
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก
อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจความเพลิน
มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม,
ตัณหาในความมีความเป็น,
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น
ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง
ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย.
! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนั่นเอง,
ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
ความเห็นชอบ,
ความดำริชอบ,
การพูดจาชอบ,
การงานชอบ,
การเลี้ยงชีพชอบ,
ความเพียรชอบ,
ความระลึกชอบ,
ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐ
คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอ
พึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์,” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๓๔-๕/๑๖๗๘-๑๖๘๓.

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอ
เป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม
ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม;
ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น
ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ?
สี่ประการคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้”
ดังนี้.
มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

สังฆทานดีกว่า !

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทานประจำสกุลวงศ์ ข้าพระองค์
ยังให้อยู่ แต่ว่าทานนั้นข้าพระองค์ให้เฉพาะหมู่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์
หรือผู้ปฏิบัติอรหัตตมรรค ที่อยู่ป่า ที่ถือบิณฑบาต ที่ถือผ้าสุกุล
เป็นวัตร ”

คหบดี ! ข้อที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นพระ
อรหันต์หรือปฏิบัติอรหัตตมรรคนั้น เป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก
สำหรับท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ผู้ยังมีการนอน
เบียดบุตร บริโภคใช้สอยกระแจะจันทน์และผ้าจาก
เมืองกาสี ทัดทรงมาลาและเครื่องกลิ่นและเครื่องผัดทา
ยินดีอยู่ด้วยทองและเงิน.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
ถ้าเป็น ผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอกพูดมาก มีวาจาไม่
แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ
มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว : ด้วยอาการ
อย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
ถ้าเป็น ผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก
มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ
มีเอกัคคตาจิต สำรวมอินทรีย์ : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น
อันใคร ๆ ควรสรรเสริญด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี
.... บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี... ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี... ถือผ้า
บังสุกุลเป็นวัตร ก็ดี... นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี ถ้าเป็นผู้
ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติ
ลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไป
ผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น
ควรถูกติเตียนด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็น ผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี
.... บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี... ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี... ถือผ้า
บังสกุลเป็นวัตร ก็ดี... นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี ถ้าเป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจา
แน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีเอกัคคตาจิต
สำรวมอินทรีย์ : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นอันใคร ๆ
ควรสรรเสริญด้วยองค์นั้น ๆ.

เอาละ คหบดี ! ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด
เมื่อท่านถวายทานในสงฆ์อยู่, จิตจักเลื่อมใส; ท่านเป็นผู้มี
จิตอันเลื่อมใสแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลาย
แห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! จำเดิมแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์
จะถวายทานในสงฆ์ ”
ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๓๖ - ๔๓๘/๓๓๐.