วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เครื่องจองจำที่มั่นคง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว
บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก
บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา
บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ไม่กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก
ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก)
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ย่อมกล่าวความรักใคร่พอใจ
ในตุ้มหู แก้วมณี
และความห่วงอาลัยในบุตรและภรรยา
นั่นแหละว่า เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ฉุดให้สัตว์ลงต่ำ
ซึ่งเป็นเครื่องจองจำที่ผูกไว้หย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก.

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
ตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช
เป็นผู้ไม่มีความห่วงอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว

.-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๑๑๑/๓๕๒.


วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โลก คือ สิ่งที่แตกสลายได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่กล่าวกันว่า โลก โลก ดังนี้
อันว่าโลกมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.


ภิกษุ เพราะจะต้องแตกสลาย เราจึงกล่าวว่าโลก
ก็อะไรเล่าจะต้องแตกสลาย.

ภิกษุ ตาแตกสลาย
รูปแตกสลาย
จักษุวิญญาณแตกสลาย
จักษุสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ด็  ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ หูแตกสลาย
เสียงแตกสลาย
โสตวิญญาณแตกสลาย
โสตสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ จมูกแตกสลาย
กลิ่นแตกสลาย
ฆานวิญญาณแตกสลาย
ฆานสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ ลิ้นแตกสลาย
รสแตกสลาย
ชิวหาวิญญาณแตกสลาย
ชิวหาสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย
ก็แตกสลาย.

ภิกษุ กายแตกสลาย
โผฎฐัพพะแตกสลาย
กายวิญญาณแตกสลาย
กายสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดีทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ ใจแตกสลาย
ธรรมแตกสลาย
มโนวิญญาณแตกสลาย
มโนสัมผัสแตกสลาย
แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ เพราะจะต้องแตกสลาย เราจึงกล่าวว่า โลก
ดังนี้.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๖๔/๙๘.

โลก คือ สิ่งที่แตกสลายได้

ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์แล้วด้วยศีล
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้น แก่บุคคลผู้มีศีล  
สมบูรณ์แล้วด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้น
แก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้น
แก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใจประกอบด้วยปีติ
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอกายของเราจงสงบเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ  
สงบนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงเสวยสุขเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว 
 เสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขแล้ว
ตั้งมั่นนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงรู้เห็นตามเป็นจริงเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว  
รู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว 
เบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายแล้ว
คลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้ว
ไม่ต้องทำเจตนาว่า ขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้ว  
ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะนี้ เป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย
วิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล
มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

นิพพิทา มีวิราคะเป็นผล
มีวิราคะเป็นอานิสงส์

ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นผล
มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์

สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล
มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

สุข มีสมาธิเป็นผล
มีสมาธิเป็นอานิสงส์

ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล
มีสุขเป็นอานิสงส์

ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล
มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์

ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล
มีปีติเป็นอานิสงส์

ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล
มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์

ศีลอันเป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล
มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม
ธรรมย่อมยังธรรมให้บริบูรณ์
เพื่อการถึงฝั่ง (คือนิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (สังสารวัฏ)
ด้วยอาการอย่างนี้แล.

-บาลี เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๓๖/๒๐๙

ธรรมย่อมไหลไปสู่ธรรม

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เพียรละอกุศลแข่งกับความตาย

ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด.

ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร
กระทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมา
ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า
ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ
งูพึงกัดเราก็ได้
แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้
ตะขาบพึงกัดเราก็ได้
เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพลาดล้มลงก็ได้
อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้
ดีของเราพึงซ่านก็ได้
เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้
ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้
มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้
พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้
เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้
ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา
ผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้
ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่
ภิกษุนั้น พึงกระทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง
เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย

เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้
พึงกระทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง
เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตราย
แก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนไม่มี
ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษา
ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่.

(ในกรณีแห่งภิกษุผู้ผ่านกลางคืนมาถึงกลางวัน ก็มีข้อความที่
ตรัสไว้ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ผิดกันแต่เวลาเท่านั้น).

ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้
กระทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๓๓๑-๓๓๓/๑๗๑.

เพียรละอกุศลแข่งกับความตาย

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์และสังโยชน์
เธอทั้งหลายจงฟัง.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นอย่างไร
และสังโยชน์
เป็นอย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย รูป เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูป
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย เวทนเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในเวทนา
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัญญา
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย สังขาร เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสังขาร
ชื่อว่า สังโยชน์.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ เป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในวิญญาณ
ชื่อว่า สังโยชน์.

ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์เหล่านี้เรียกว่า
ธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
(ฉนฺทราคะ) นี้เรียกว่า สังโยชน์.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๐๒/๓๐๘.

(ในสูตรอื่นทรงแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ด้วยอายตนะภายในหก -บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๑๐/๑๕๙.
และอายตนะภายนอกหก-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๓๕/๑๘๙. -ผู้รวบรวม)

ที่ตั้งของสังโยชน์ และสังโยชน์

พึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา

สารีบุตร  ประการอื่นยังมีอีก  ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า  
เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วหรือหนอ
  
สารีบุตร  ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
  
เรายังไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเลย  
ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา
  
สารีบุตร  แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่  รู้อย่างนี้ว่า
  
เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้ว  
ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์
ตามที่ศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายเนืองๆ
ทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด
 
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๕๓๙/๘๕๐.

พึงพยายามเจริญสมถะและวิปัสสนา

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บุคคล ๔ จำพวก

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
มหาราช !   บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกเป็นไฉน ? 
บุคคล ๔ จำพวกคือ :-

บุคคลผู้มืดแล้วมืดต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไปจำพวก ๑,
บุคคลผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไปจำพวก ๑.


มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่ามืดแล้วคงมืดต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลอันต่ำ
คือในตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลจักสาน
ตระกูลทำรถ หรือตระกูลเทหยากเยื่อ
ซึ่งเป็นคนยากจน
มีข้าวและน้ำน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง
มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก
เขาเป็นผู้มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เตี้ยค่อม
ขี้โรค ตาบอด ง่อยกระจอก มีตัวตะแคงข้าง
ไม่ค่อยจะมีข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
เขาซ้ำประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

มหาราช !  บุรุษพึงไปจากความมืดทึบสู่ความมืดทึบ
หรือพึงไปจากความมืดมัวสู่ความมืดมัว
หรือพึงไปจากโลหิตอันมีมลทินสู่โลหิตอันมีมลทิน ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตกล่าวว่าบุคคลนี้ มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วคงมืดต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลอันต่ำทราม
คือในตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลจักสาน
ตระกูลทำรถ หรือตระกูลเทหยากเยื่อ
ซึ่งเป็นคนยากจน
มีข้าวและน้ำน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง
มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก
เขาเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เตี้ยค่อม
ขี้โรค ตาบอด ง่อยกระจอก มีตัวตะแคงข้าง
ไม่ค่อยจะมีข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
แม้กระนั้น เขาก็ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขา ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

มหาราช !  บุรุษพึงขึ้นจากแผ่นดินสู่บัลลังก์
หรือพึงขึ้นจากบัลลังก์สู่หลังม้า
หรือพึงขึ้นจากหลังม้าสู่คอช้าง
หรือพึงขึ้นจากคอช้างสู่ปราสาท แม้ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลสูง
คือในสกุลกษัตริย์มหาศาล
สกุลพราหมณ์มหาศาล
หรือสกุลคหบดีมหาศาล
อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทองและเงินพอตัว มีอุปกรณ์
แห่งทรัพย์พอตัว มีทรัพย์และข้าวเปลือกพอตัว
เขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยความเกลี้ยงเกลาแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง
ร่ำรวยด้วยข้าว ด้วยน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
แต่เขากลับประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

มหาราช !   บุรุษลงจากปราสาทสู่คอช้าง
หรือลงจากคอช้างสู่หลังม้า
หรือลงจากหลังม้าสู่บัลลังก์
หรือลงจากบัลลังก์สู่พื้นดิน
หรือจากพื้นดินเข้าไปสู่ที่มืด แม้ฉันใด, 
มหาราช !   ตถาคตกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วกลับมืดต่อไป.

มหาราช !  ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป ?
มหาราช !  บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เกิดมาภายหลังในตระกูลสูง
คือในสกุลกษัตริย์มหาศาล
สกุลพราหมณ์มหาศาล
หรือสกุลคหบดีมหาศาล
อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินพอตัว
มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์พอตัว
มีทรัพย์และข้าวเปลือกพอตัว
เขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยความเกลี้ยงเกลาแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง
ร่ำรวยด้วยข้าว ด้วยน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และประทีปโคมไฟ
เขาย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ครั้นเขาประพฤติ สุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว
ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

มหาราช !  บุรุษพึงก้าวไปด้วยดีจากบัลลังก์สู่บัลลังก์
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากหลังม้าสู่หลังม้า
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากคอช้างสู่คอช้าง
หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากปราสาทสู่ปราสาท แม้ฉันใด,
มหาราช !   ตถาคตย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้มี อุปไมยฉันนั้น.
มหาราช !  อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป.

มหาราช !  บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดังนี้.

-บาลี สคา. สํ ๑๕/๑๓๖/๓๙๓.

บุคคล ๔ จำพวก