(๑) ทรัพย์คือ ศรัทธา (๒) ทรัพย์คือ ศีล (๓) ทรัพย์คือ สุตะ (๔) ทรัพย์คือ จาคะ (๕) ทรัพย์คือ ปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดี
ด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่า
มืออันชุ่ม ยินดีในการสละ
เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ทรัพย์ ๕ ประการ.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน
ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.
-บาลี ปญจก. อํ. ๒๒/๕๘/๔๗.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น