วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ ๑)

อานนท์ ! วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ) ๗
เหล่านี้ และ อายตนะ ๒ มีอยู่.
วิญญาณฐิติ ๗ เหล่าไหนเล่า ?
วิญญาณฐิติ ๗ คือ :-
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย (สตฺตา) มีกายต่างกัน
มีสัญญาต่างกันมีอยู่ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก
และวินิบาตบางพวก นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๑.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญา
อย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม
ที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ (ปฐมานิพฺพตฺตา) นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๒.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน
มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพอาภัสสระ นี้คือ
วิญญาณฐิติที่ ๓.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน
มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ได้แก่ พวกเทพสุภกิณหะ นี้คือ
วิญญาณฐิติที่ ๔.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง
รูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่ง
ปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสา-
นัญจายตนะ มีการทำในใจว่า “อากาศไมมี่ที่สุด” ดังนี้ มีอยู่
นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๕.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง
อากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญา-
ณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ดังนี้
มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๖.
อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง
วิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญ-
จัญญายตนะ มีการทำในใจว่า “อะไร ๆ ไม่มี” ดังนี้ มีอยู่
นี้คือ วิญญาณฐิติที่ ๗.

ส่วน อายตนะ ๒ นั้น คือ
อสัญญีสัตตายตนะที่ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนะที่ ๒


อานนท์ ! ในบรรดาวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒
(รวมเป็น ๙) นั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ อันใด มีอยู่ คือ สัตว์
ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย
เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก.

อานนท์ ! ผู้ใดรู้ชัดวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น
รู้ชัดการเกิด (สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดความดับ (อัตถังคมะ)แห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดโทษต่ำทราม (อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น
และรู้ชัดอุบายเป็น เครื่องออกไปพ้น (นิสสรณะ) แห่งสิ่งนั้น
ดังนี้แล้ว ควรหรือหนอที่ผู้นั้น
จะเพลิดเพลินยิ่งซึ่งวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น ?
ข้อนั้น เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า !

(ในกรณีแห่ง วิญญาณฐิติที่ ๒ วิญญาณฐิติที่ ๓ วิญญานฐิติที่ ๔ วิญญาณฐิติที่ ๕ วิญญาณฐิติที่ ๖ วิญญาณฐิติที่ ๗ และ
อสัญญีสัตตายตนะที่ ๑ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ก็ได้มีการอธิบาย ตรัสถาม และทูลตอบ โดยข้อความทำนองเดียวกัน
กับในกรณีแห่งวิญญาณฐิติที่ ๑ นั้น ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อแห่ง
สภาพธรรมนั้นๆ เท่านั้น ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะที่ ๒ นั้น
จะได้บรรยายด้วยข้อความเต็มอีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-)


อานนท์ ! ในบรรดาวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒
(รวมเป็น ๙) นั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ความหมายรู้ว่า
มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่) อันใด มีอยู่.

อานนท์์ ! ผู้ใดรู้ชัดเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
รู้ชัดการเกิดแห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดการดับแห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดรสอร่อยแห่งสิ่งนั้น
รู้ชัดโทษอันต่ำทรามแห่งสิ่งนั้น
และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออกแห่งสิ่งนั้น
ดังนี้แล้ว ควรหรือหนอ
ที่ผู้นั้นจะเพลิดเพลินยิ่งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ?

ข้อนั้น เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! เมื่อใดแล ภิกษุรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง
ซึ่งการเกิด การดับ รสอร่อย โทษอันต่ำทราม และอุบายเป็น
เครื่องออกแห่ง วิญญาณฐิติ ๗ เหล่า นี้ และแห่ง อายตนะ ๒
เหล่า นี้ด้วยแล้ว เป็น ผู้หลุดพ้น เพราะความไมยึ่ดมั่น.
อานนท์ ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ผู้เป็นปัญญาวิมุติ
มหา. ที. ๑๐/๘๑-๘๓/๖๕.

_____________________
ปฐมภูมิ : ภูมิเบื้องต้น สามารถเข้าถึงได้หลายทาง เช่น ผู้ได้ปฐมฌาน,
ผู้เจริญเมตตา, ผู้กระทำกุศลกรรมบท ๑๐, ผู้ประกอบพร้อมด้วย ศรัทธา
ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น.
วิญญาณฐิติที่ ๒:ในไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เฉพาะในสูตรนี้ วิญญาณฐิติที่ ๒ จะพบว่ามีคำว่า
อบายทั้ง ๔ อยู่เพียงตำแหน่งเดียวที่เป็นพุทธวจน แต่ไม่ตรงกับสูตรอื่น
ที่กล่าวถึงวิญญาณฐิติ ๗ (คือใน ๒ สูตรของพระสารีบุตรที่พระพุทธเจ้ารับรอง ๑ สูตร
และพระสารีบุตรทรงจำเอง ๑ สูตร) และไม่ตรงกับไตรปิฎกฉบับภาษามอญและ
ภาษายุโรป ดังนั้น คำว่า อบายทั้ง ๔ จึงไม่ได้นำมาใส่ในที่นี้.
รูปสัญญา : ความหมายรู้ในรูป.
ปฏิฆสัญญา : ความหมายรู้อันไม่น่ายินดีในส่วนรูป. 
นานัตตสัญญา : ความหมายรู้อันมีประการต่างๆ ในส่วนรูป.

พุทธวจน ภพภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น