วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หลักการดำรงชีพเพื่อประโยชน์สุขในวันนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์
บริโภคกาม แออัดอยู่ด้วยบุตร ครองเรือน ใช้สอยกระแจะจันทน์
จากแคว้นกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ยินดีทอง
และเงินอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง
แสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งใน
ทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน) และในสัมปรายะ (ในเวลาถัดต่อมา)
แก่พวกข้าพระองค์ผู้อยู่ในสถานะเช่นนี้เถิด พระเจ้าข้า !”.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้
เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่กุลบุตร
ในทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน). ๔ ประการ อย่างไรเล่า ?
๔ ประการ คือ :-
อุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ)
อารักขสัมปทา (การรักษาทรัพย์)
กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี)
สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

ความขยันในอาชีพ
พ๎ยัคฆปัชชะ !
อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ สำเร็จการ
เป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือด้วยกสิกรรม หรือ
วานิชกรรม โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ
หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในอาชีพนั้นๆ เขาเป็น
ผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องใน
อุบายนั้นๆ สามารถกระทำ สามารถจัดให้กระทำ.
พ๎ยัคฆปัชชะ !
นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ).

การรักษาทรัพย์
พ๎ยัคฆปัชชะ !
อารักขสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้, โภคะ
อันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น
รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม, เขารักษาคุ้มครอง
อย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า “อย่างไรเสียพระราชาจะไม่ริบทรัพย์
ของเราไป โจรจะไม่ปล้นเอาไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัด
พาไป ทายาทอันไม่รักใคร่เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไป” ดังนี้.
พ๎ยัคฆปัชชะ !
นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา (การรักษาทรัพย์).

ความมีมิตรดี
พ๎ยัคฆปัชชะ !
กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ อยู่อาศัยใน
บ้านหรือนิคมใด, ถ้ามีบุคคลใดๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น
เป็นคหบดีหรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นคนหนุ่มที่เจริญด้วยศีล
หรือเป็นคนแก่ที่เจริญด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่ถึงพร้อมด้วย
ศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วย
ปัญญาอยู่แล้วไซร้, กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม
สากัจฉา (สนทนา) ร่วมกับชนเหล่านั้น.
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยสัทธาโดย
อนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศีลโดย
อนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยจาคะโดย
อนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยปัญญาโดย
อนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่ในที่นั้นๆ.
พ๎ยัคฆปัชชะ !
นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี).

การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ
พ๎ยัคฆปัชชะ ! สมชีวิตา เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความ
ได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้ว
ดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก
โดยมีหลักว่า
“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่าย
ของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือ
ลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า
“ยังขาดอยู่เท่านี้หรือเกินไปแล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด; กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น :
เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่ง
โภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า
“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้

ดังนี้.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย
แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าว
ว่า กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือน
คนกินผลมะเดื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้
มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้
ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่าง
คนอนาถา.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มา
แห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรง
ชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก
โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่าย
ของเรา จักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้;
พ๎ยัคฆปัชชะ !
นี้เราเรียกว่า สมชีวิตา
(การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๘๙/๑๔๔.

พุทธวจน อารักขสัมปทา

พุทธวจน อุฎฐานสัมปทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น