เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์
เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งพิณ มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า !”.
โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใด สายพิณของเธอขึงตึงเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.
โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป
เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.
โสณะ ! แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ
ไม่ตึงนักหรือไม่หย่อนนัก
ขึงได้ระเบียบเสมอๆ กันแต่พอดี
เมื่อนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ?
“เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.
โสณะ ! ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ
ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน,
ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน.
โสณะ ! เหตุผลนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี,
จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ต้องเป็นธรรมชาติที่เสมอๆ กัน,
จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด.
“พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”.
-บาลี ฉกฺก. อํ ๒๒/๔๑๘/๓๒๖.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น