วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เมื่อมีสติ ความเพลินย่อมดับ

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้น เห็นรูปด้วยตาแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น รู้สึกกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกายแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในสัมผัสทางกาย อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในสัมผัสทางกาย อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในธรรมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในธรรมมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง
เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกายอันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว
มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย
ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย
ภิกษุนั้น เป็นผู้ละเสียได้แล้ว ซึ่งความยินดี และความยินร้ายอย่างนี้แล้ว
เสวยเวทนาใด ๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ในเวทนานั้น ๆ
เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้น ๆ
นันทิ (ความเพลิน) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมดับไป
เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
มู. ม. ๑๒/๔๙๔/๔๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น