วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ

ภิกษุทั้งหลาย !  เราจักแสดงซึ่งปฏิจจสมุปบาท
(คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)
แก่พวกเธอทั้งหลาย.
พวกเธอทั้งหลาย จงฟังซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั้น,
จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์,
เราจักกล่าวบัดนี้ ...
ภิกษุทั้งหลาย !   ก็ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย
จะบังเกิดขึ้นก็ตาม,จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว; คือ ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา (ธัมมัฏฐิตตา),
คือ ความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),
คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา).
ตถาคต ย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น;
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้
ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง
ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ;
และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย !  ท่านทั้งหลายจงมาดู :
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุดังนี้แล :
ธรรมธาตุใด ในกรณีนั้น อันเป็น ตถตา คือ ความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อวิตถตา คือ ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
เป็น อิทัปปัจจยตา คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมนี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
(คือธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น).

(๒) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๓) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๔) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๕) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาย่อมมี. ...ฯลฯ...
(๖) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๗) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๘) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๙) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปย่อมมี. ...ฯลฯ...
(๑๐) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณย่อมมี. ...ฯลฯ…
(๑๑) ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมี.

ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย
จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม,
ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว;
คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา,
คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา,
คือความที่เมื่อสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น;
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว,
ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้
ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง
ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่ควํ่าและได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย !  ท่านทั้งหลายจงดู :
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะเหตุดังนี้แล :
ธรรมธาตุใดในกรณีนั้น อันเป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อวิตถตา คือ ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,
เป็น อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
เป็น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมนี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.

-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๓๐/๖๑.

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ อิทัปปัจยตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น