วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
,
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา :
เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทุกประการ).
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่
เป็นจริงอย่างนี้, ปุพพันตานุทิฏฐิ๑ ทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิไม่มี, อปรันตานุทิฏฐิ๒ ทั้งหลายย่อมไม่มี;
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิไม่มี, ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี;
เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี,
จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารในวิญญาณ;
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น.
เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่;
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี;
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง;
เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว.
เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว,
กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว,
กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก”
ดังนี้.
ขนฺธ. ส°. ๑๗/๕๗/๙๓.
_______________________
๑. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องต้นหรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของอดีต
๒. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องปลาย หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของ
อนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น